นายธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ โฆษกของกรุงเทพมหานคร แถลงภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับนโยบายการควบคุมตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในเขตกรุงเทพมหานคร ให้มีมาตรฐาน ถูกสุขลักษณะว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 997 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย จำนวน 215 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 21.56% นอกจากนี้ยังพบว่าไม่มีการดูแล บำรุงรักษาตู้น้ำดื่มฯ เนื่องจากพบคราบฝุ่นละอองภายนอกตู้น้ำดื่มฯ บริเวณห้องจ่ายน้ำ และตู้น้ำดื่มฯ ส่วนใหญ่จะไม่มีระบบตัดไฟฟ้า เมื่อกระแสไฟรั่วหรือลัดวงจร
ทั้งนี้ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2544 กำหนดให้การผลิตน้ำกลั่น น้ำบริโภค ต้องมีใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ซึ่งผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามแนวทางการพิจารณา เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ โดยวัสดุที่ใช้ในการผลิตตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญต้องทนทาน ไม่ผุกร่อน ไม่มีสารละลายน้ำที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค การติดตั้งต้องอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม ไม่ก่อความเดือนร้อนแก่ที่สาธารณะ มีระบบป้องกันภัยจากกระแสไฟรั่ว หรือไฟฟ้าลัดวงจร ผู้ประกอบการต้องทำความสะอาดตู้ ถังเก็บน้ำ หัวจ่ายน้ำดื่มหยอดเหรียญ และตรวจสอบประสิทธิภาพของการล้างฆ่าเชื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง โดยมีการบันทึกเป็นเอกสารให้กรุงเทพมหานครตรวจสอบได้
สำหรับน้ำบริโภคจะต้องมีคุณภาพมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณะสุข ฉบับที่ 61 (พ.ศ. 2524) เรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ.2534) เรื่องน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (ฉบับที่2) และเมื่อได้รับใบอนุญาตฯ แล้ว ผู้ประกอบการต้องติดประกาศสำเนาใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย เห็นได้เด่นชัด รวมทั้งติดประกาศข้อมูลที่ชัดเจนของผู้ผลิต ผู้ให้บริการหรือครอบครอง เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถติดต่อได้โดยสะดวก
ซึ่งที่ประชุมได้เสนอให้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในการลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญกว่า 2,000 ตู้ในเขตกรุงเทพฯ และให้มีการติดสติ๊กเกอร์ตรากรุงเทพมหานคร บนตู้น้ำดื่มฯ ที่ผ่านการตรวจสอบ และได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข