ได้ผลตรงกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งไม่เสียงบประมาณ
วิทยพัฒน์ สำนักพิมพ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตตำราในระดับอุดมศึกษาเปิดพื้นที่สื่อประชาสัมพันธ์ช่องทางใหม่ให้ใช้โดยไม่คิดมูลค่า เจาะเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นโดยตรง อายุของสื่อยาวนาน อีกทั้งมีการตอกย้ำสม่ำเสมอ นำร่องด้วยงานของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
นายสาธิต อุรุวงศ์วณิช กรรมการผู้จัดการบริษัท วิทยพัฒน์ จำกัด สำนักพิมพ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตตำราในระดับอุดมศึกษาและหนังสือวิชาการเปิดเผยว่า ตำราเรียนนับเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ที่ได้ผลตรงกลุ่มเป้าหมายและมีอายุยาวนาน แต่ตำราเรียนถูกมองข้าม มิได้นำมาใช้เพื่อผลด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในหัวข้อที่เหมาะสม
“นอกจากนี้ อายุการใช้งานปกติของตำราเรียนก็คือหนึ่งภาคการศึกษา ซึ่งกินเวลานานประมาณ ๓ เดือน สัปดาห์หนึ่งต้องเปิดใช้หลายครั้ง ดังนั้นหากมีสื่อประชาสัมพันธ์อยู่ในตำราเรียน ก็เท่ากับว่าสื่อนั้นจะมีอายุการใช้งานนานหลายเดือน อีกทั้งยังมีการตอกย้ำแก่ผู้อ่านอย่างสม่ำเสมอ เพราะมีการเปิดอ่านบ่อย ๆ
“แต่เนื้อที่ประชาสัมพันธ์นี้เราไม่ได้ขาย เราให้ใช้โดยไม่คิดมูลค่า เราเปิดกว้างสำหรับองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อใช้ประโยชน์ในการรณรงค์เพื่อประโยชน์แก่สังคมเท่านั้น โดยโครงการนำร่องของเราเป็นการร่วมมือกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ซึ่งหัวข้อที่ใช้พื้นที่์ตำราของวิทยพัฒน์ในการรณรงค์ก็คือ สถานศึกษาปลอดบุหรี่
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่าความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นการคิดนอกกรอบ ซึ่งได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิฯ ที่สามารถรณรงค์ได้ถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ขณะที่นิสิตนักศึกษาจะได้รับข้อมูลอันเป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้ใกล้ชิด ส่วนอาจารย์ผู้สอนในชั้นเรียน จะได้รับประโยชน์จากการนำข้อมูลไปใช้ประกอบการร่วมรณรงค์หรือเผยแพร่แก่นิสิตนักศึกษา และวิทยพัฒน์ก็ได้ใช้โอกาสนี้แสดงจุดยืนในการทำประโยชน์แก่สังคม
“เมื่อมูลนิธิฯและวิทยพัฒน์หารือโครงการนี้ร่วมกัน มูลนิธิเองก็ให้ความสำคัญเกี่ยวกับผู้ที่จะมาร่วมงานกับเรา เราต้องพิจารณาด้วยว่าปรัชญาการทำงานสอดคล้องกับเราหรือไม่ หลังจากที่ได้พูดคุยกันแล้ว เราก็สบายใจ และน่าจะร่วมงานกันได้เพราะมีปรัชญาในการทำงานในทิศทางเดียวกัน” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประกิตกล่าว
ด้าน นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกฎหมายการห้ามสูบบุหรี่ในมหาวิทยาลัยว่า “ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 18 กำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นเขตปลอดบุหรี่ ยกเว้นที่ที่จัดไว้ให้เป็นที่สูบบุหรี่ หรืออาจห้ามสูบบุหรี่ในมหาวิทยาลัยทั้งหมดเลยก็ได้ เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ กรมควบคุมโรคจึงสนับสนุนการรณรงค์ให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายเขตปลอดบุหรี่ โดยกรมควบคุมโรคจะเริ่มติดตามการบังคับใช้กฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยที่ได้ปล่อยปละละเลยมานาน”
ด้านนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงนโยบายการดำเนินการให้มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ตามกฎหมายว่า “สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข โดยการขอความร่วมมือผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั่วประเทศให้ดำเนินการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในการติดป้ายสัญลักษณ์เขตปลอดบุหรี่ และจัดที่สูบบุหรี่ตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ข้อมูลการวิจัยพบว่ามหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาปลอดบุหรี่ลดโอกาสการติดบุหรี่ของนิสิตนักศึกษา”
ทางด้านนายสาธิต กล่าวถึงการร่วมกิจกรรมกับมูลนิธิฯ ครั้งนี้ว่าเป็นเป้าหมายร่วมกันในสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม “นอกจากเป้าหมายในการมุ่งทำประโยชน์แก่สังคมแล้ว เรายังอยากจะแสดงให้ทุกคนได้เห็นว่าองค์กรที่มีขนาดเล็กก็สามารถทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือ CSR ได้โดยใช้งบประมาณไม่มาก” นายสาธิตกล่าว
นายสาธิตกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าความร่วมมือกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่นี้ ถือเป็นความร่วมมือที่เป็นโครงการนำร่องให้แก่องค์กรสาธารณะที่ไม่หวังผลกำไรที่ต้องการใช้พื้นที่ประชาสัมพันธ์ดังกล่าวได้นำไปพิจารณา หากหลักการไปด้วยกันได้ ทางวิทยพัฒน์ยินดีที่จะให้ความร่วมมือดังเช่นที่ให้กับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
“หลักเกณฑ์เบื้องต้นก็คือ กลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มวัยเรียนในระดับอุดมศึกษา และเนื้อหาในการประชาสัมพันธ์ไม่เป็นการหาทุนหรือขอรับบริจาค” นายสาธิตกล่าว
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิตกล่าวถึงสถานการณ์ผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยว่าปัจจุบันมีผู้สูบบุหรี่ทั้งสิ้น 9.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.5 แบ่งเป็นชายร้อยละ 36.5 และหญิงร้อยละ 1.6 สำหรับ สถานการณ์ผู้สูบบุหรี่ในอายุ 19-24 ปี ปัจจุบันมีผู้สูบบุหรี่ทั้งสิ้นประมาณ 2.1 ล้านคน แบ่งเป็นชาย 2.0 ล้านคน และหญิง 56,119 คน
“เรามีเป้าหมายที่จะรณรงค์ให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศเป็นมหาวิทยาลัยสีขาวคือเป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้เราสามารถเริ่มต้นร่วมรณรงค์แล้วที่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยเซ็นจอห์น และ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยเรามีเป้าหมายภายในปีหน้า เราจะเพิ่มจำนวนมหาวิทยาลัยสีขาวอีกหลายแห่ง และ คาดว่าในอนาคตมหาวิทยาลัยทั่วประเทศน่าจะเป็นมหาวิทยาลัยสีขาวที่ปลอดบุหรี่ได้สำเร็จ การที่วิทยพัฒน์เข้าร่วมรณรงค์โดยใช้พื้นที่ในตำราเป็นสื่อประชาสัมพันธ์น่าจะช่วยให้การรณรงค์บรรลุเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประกิตกล่าว
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ วิรัตน์ ตรีรานุรัตน์
ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
โทรศัพท์ 081 682 2575
E-mail [email protected]