ฟิทช์มองว่าอันดับเครดิตของ KTB มีพื้นฐานมาจากการถือหุ้นใหญ่และการสนับสนุนที่แข็งแกร่งของรัฐบาล รวมทั้งสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นของธนาคาร KTB เป็นธนาคารขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยมีส่วนแบ่งการตลาด 16% และมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่จัดตั้งโดยธนาคารแห่งประเทศไทยถือหุ้นในสัดส่วน 55% เมื่อพิจารณาถึงขนาดและความสำคัญต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจของ KTB รวมทั้งการที่ทางรัฐบาลถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุมธนาคาร ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหากมีความจำเป็น แม้ว่าการที่ทางรัฐบาลถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุมธนาคารมีส่วนช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตระยะยาวของ KTB ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นอาจทำให้ผลการดำเนินงานของธนาคารอ่อนแอลงได้
KTB มีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นในปี 2551 โดยธนาคารมีกำไรสุทธิ 12.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปีก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง ถึงแม้ว่าธนาคารมีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเงินลงทุนในตราสารหนี้ประเภท Collateralized Debt Obligation หรือ CDO 2.4 พันล้านบาทในปี 2551 การขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่ในระดับสูง (เพิ่มขึ้น 9.2% จากปี 2550) และต้นทุนเงินฝากที่ลดลงช่วยให้ KTB สามารถรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ระดับ 3.6% ในปี 2551 จากการประมาณการณ์ของฟิทช์ที่คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะชะลอตัวลงอย่างรุนแรง โดยอัตราการเติบโตของ GDP คาดว่าจะติดลบที่ 1.1% ในปี 2552 อาจส่งผลให้ KTB มีผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลง เนื่องจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่คาดว่าจะลดลงจากการขยายสินเชื่อที่ลดลง ในขณะที่แนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอลงจะส่งผลให้การตั้งสำรองหนี้ที่สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ KTB ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 42% ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
KTB มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในงบการเงินเฉพาะของธนาคารลดลงมาอยู่ที่ 85.2 พันล้านบาท (7.6% ของสินเชื่อ) ณ สิ้นปี 2551 จาก 96.1 พันล้านบาท (9.5% ของสินเชื่อ) ณ สิ้นปี 2550 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการตัดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ออกจากบัญชีและการปรับโครงสร้างหนี้ อย่างไรก็ตามคาดว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารจะเพิ่มขึ้นในปี 2552 แม้ว่าอัตราส่วนเงินกองทุนของ KTB จะปรับตัวลดลงในปีที่ผ่านมา เนื่องจากการขยายตัวของสินเชื่อในระดับสูงและการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ Basel II ที่เริ่มใช้เมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2551 แต่อัตราส่วนเงินกองทุนของ KTB ยังคงอยู่ในระดับที่พอเพียง โดยธนาคารมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมอยู่ที่ 9.4% และ 12.7% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2551 ทั้งนี้คาดว่าระดับเงินกองทุนดังกล่าวจะสามารถช่วยให้ธนาคารรับมือกับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามอัตราส่วนเงินกองทุนของ KTB อาจปรับตัวลดลงอีก หาก KTB มีการขยายสินเชื่อเพื่อช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพ
ติดต่อ
Vincent Milton, พชร ศรายุทธ, กรุงเทพฯ +662 655 4759/61
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฎข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน