นายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้เลี้ยงไก่ไข่เป็นเกษตรกรที่มีภาวะย่ำแย่ที่สุดในภาคปศุสัตว์ เพราะขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะต้องประสบภาวะขาดทุนซ้ำซากอีกในปีนี้ หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างจริงจังจากรัฐบาล
“สาเหตุหลักของปัญหาขาดทุนก็คือผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาด และวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทางก็คือการลดปริมาณพ่อแม่พันธุ์ (PS) ซึ่งเป็นต้นน้ำ ทางสมาคมฯได้ขอให้ภาครัฐโดยกรมปศุสัตว์ทำการพิจารณาปรับลดโควต้าการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ ในปี 2552 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ พร้อมๆกับขอให้กรมเข้ามาควบคุมอายุการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์และไก่ไข่ยืนกรงให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมตามมติคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) แล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าใดๆ”
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังมองว่า กรมปศุสัตว์ควรต้องเข้ามาควบคุมการปลดแม่ไก่แก่ยืนกรงที่มีอายุเกินกว่า 72 สัปดาห์อย่างเคร่งครัด เป็นการควบคุมให้ปริมาณผลผลิตไข่ไก่ที่ออกสู่ตลาดลดลงจากเดิม 30 ล้านฟองต่อวันมาอยู่ที่ 27 ล้านฟองต่อวันเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราการบริโภคในปัจจุบัน ขณะเดียวกันภาครัฐยังต้องให้ความช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการรณรงค์บริโภคไข่ไก่อย่างจริงจัง เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ เพราะอัตราการบริโภคไข่ไก่ของคนไทยมีเพียง 160 ฟอง/คน/ปี ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านที่บริโภค 230 ฟอง/คน/ปี และประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และ สหภาพยุโรป บริโภคกันมากกว่า 300 ฟอง/คน/ปี
ส่วนในด้านการระบายไข่ส่วนเกินออกไปจากระบบด้วยการส่งออกนั้น เป็นแนวทางที่ดี แต่ทั้งนี้ผู้ส่งออกต้องแบกรับภาระการขาดทุนเนื่องจากขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน จึงอยากให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ ด้วยการจัดสรรงบประมาณ 70-100 ล้านบาท มาสนับสนุนการส่งออก ซึ่งเป็นอีกวิธีในการรักษาระดับเสถียรภาพราคาไข่ไก่ไม่ให้ตกต่ำกว่าที่เป็นอยู่
“สมาคมฯไม่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาประกันราคาผลผลิต ไม่ได้เรียกร้องในสิ่งที่เกินความจำเป็น แต่ขอความช่วยเหลือที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมในสิ่งที่ควรจะเป็นเพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่อยู่รอดได้ หลังจากต้องทนแบกภาระขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง” นายกสมาคมฯกล่าวทิ้งท้าย
081-862-5248