นายวีระ อิงค์ธเนศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการเข้าร่วมการส่งเสริมซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สระหว่างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ว่า ในฐานะที่บริษัทฯ ซึ่งเป็นเจ้าของสินค้าแบรนด์ไทยที่ชื่อ เอสวีโอเอ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ ที่สนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมาย ประกอบกับการที่ทางเนคเทคได้มีนโยบายของภาครัฐให้ผู้ผลิตและจำหน่ายคอมพิวเตอร์ในประเทศ ได้ติดตั้งซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ที่พัฒนาโดยคนไทย เพื่อเป็นการลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่ผลิตจากต่างประเทศ ดังนั้นบริษัทฯ จึงได้เสนอทางเลือกให้กับลูกค้ากลุ่มที่ยังไม่พร้อมที่จะเสียเงินค่าซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ของต่างประเทศ โดยจะทำการลงโปรแกรมดังกล่าวเพื่อให้ลูกค้าที่ซื้อคอมพิวเตอร์พีซีและโน้ตบุ๊กทุกเครื่องของเอสวีโอเอ สามารถนำไปใช้งานได้ทันที โดยไม่ละเมิดลิขสิทธิ์
ด้านนายจักเรศ ลือวัฒนานนท์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่บริษัทฯ เสนอซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สพัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติหรือเนคเทค เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้ากลุ่มที่ยังไม่พร้อมที่จะเสียเงินค่าซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ นั้น เนื่องจากในปัจจุบันระบบการทำงานของโปรแกรมโอเพนซอร์สดังกล่าว มีหน้าตาและลักษณะการทำงานคล้ายกับซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ที่ผลิตจากต่างประเทศทุกอย่าง และมีโอกาสในการพัฒนาต่อไปได้ไม่ยาก เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่มาจากระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์ประยุกต์ในตระกูลเดียวกันกับระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ (Unix) ซึ่งนิยมใช้งานในระบบขนาดใหญ่
สำหรับซอฟต์แวร์โปรแกรมโอเพนซอร์ส ได้รับการออกแบบและพัฒนาขึ้นโดยยึดระเบียบวิธีการที่เป็นมาตรฐานกลาง เช่น OSI ,POSIX ,ANSI เป็นต้น จึงมั่นใจได้ว่าการเชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ(Interconnectivity ) จะมีความสะดวกและไม่ยึดติดกับโครงแบบ ( Platform ) ใดๆ อันทำให้เกิดปัญหาการผูกขาดทางเทคโนโลยีในอนาคตปราศจากไวรัส ปัญหาจากไวรัสคอมพิวเตอร์และสิ่งแปลกปลอมทางซอฟต์แวร์(Malware) ที่มุ่งโจมตีระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ อันเนื่องมาจากพัฒนาการด้านการสื่อสารและเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยเป้าหมายสำคัญของไวรัสมักจะเป็นตัวระบบปฏิบัติการ (Operating System)
และข้อมูลหลายๆ แหล่งจะพบว่าระบบปฏิบัติการในกลุ่มยูนิกซ์ ลีนุกซ์หรือบีเอสดีได้รับผลกระทบจากไวรัสน้อยมาก สำหรับความสามารถในทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการเชิงพาณิชย์อื่นๆ ได้ในระบบเครือข่ายเดียวกันนั้น ถึงแม้ว่าโครงสร้างของระบบจะมีความแตกต่างกันก็ตาม แต่เนื่องจากการเชื่อมต่อมีระเบียบวิธีการหลายประการที่ใช้มาตรฐานร่วมกัน ( Standard Protocols ) จึงทำให้สามารถใช้เครื่องลูกข่ายเป็นระบบปฏิบัติการเชิงพาณิชย์อื่นๆ ในขณะที่เครื่องแม่ข่ายในระบบสามารถใช้ระบบปฏิบัติการโอเพนซอร์สที่เป็นซอฟต์แวร์เสรีได้
นายจักเรศกล่าวต่อว่า สำหรับในเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากโปรแกรมประเภทโอเพนซอร์ส ได้รับอนุญาตให้มีการเผยแพร่และใช้งานได้โดยอิสระ จึงไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับผู้ที่ไม่ได้เตรียมงบประมาณสำหรับซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ อีกทั้งหากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน หันมาใช้ซอฟต์แวร์ประเภทนี้บ้างจะช่วยประหยัดงบประมาณของชาติได้ไม่น้อยและจะเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมในการใช้งานซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณธนศักย์ อุทิศชลานนท์ (โป้ง) ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
บริษัทคอร์แอนด์พีค จำกัดโทรศัพท์ 02-439-4600 ต่อ 8202
โทรสาร 02-861-0675 อีเมล Tanasaku @corepeak.com