เปิดตัว 8 ซอฟต์แวร์ไทยลุยตลาดยุโรป ซอฟต์แวร์พาร์คจับมือ CBI เบิกทาง

พุธ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๙ ๑๕:๓๙
ซอฟต์แวร์พาร์คดัน 8 บริษัทซอฟต์แวร์ไทยลุยตลาดยุโรป จับมือ CBI เตรียมแต่งตัว พร้อมพาออกบูธฟรีทั่วอียู และเจาะลูกค้าแบบถึงตัว ประเดิมงานซีบิท 2009 นำร่อง เชื่อต่อไปแผนการตลาดซอฟต์แวร์ส่งออกปึ๊ก

นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้อำนวยการ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค เปิดเผยว่า ในปีนี้ซอฟต์แวร์พาร์คได้วางแนวทางการรุกตลาดเข้าสู่ยุโรปอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับ Centre for the promotion of Imports from developing countries หรือ CBI คัดเลือก 8 บริษัทซอฟต์แวร์ไทยเพื่อเป็นกลุ่มแรกในการทำตลาด

โดย CBI ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ของประเทศเนเธอแลนด์ ที่เป็นองค์กรอิสระขึ้นตรงกับหน่วยงานความร่วมมือระหว่างประเทศ และมีบทบาทในการพัฒนา ช่วยเหลือการพัฒนาทางด้านการค้า การผลิต การส่งออก ผ่านรูปแบบของการฝึกอบรมทักษะ ที่ปรึกษา การให้เงินสนับสนุน และเป็นองค์กรที่มีพันธมิตรในต่างประเทศทั่วโลก

ข้อตกลงนั้นทาง CBI กับซอฟต์แวร์พาร์คจะอยู่ภายใต้สัญญาความช่วยเหลือ 4 ปี คือตั้งแต่ปี 2008-2012 ในชื่อโปรแกรม CBI IT outsourcing Export Coaching Program

โดยโครงการต้องช่วยเหลือและเตรียมความพร้อมให้บริษัทซอฟต์แวร์ที่มีศักยภาพในประเทศไทยสามารถเข้าไปทำตลาดในสหภาพยุโรปได้ รวมทั้งต้องมีการถ่ายทอดความรู้ทั้งในเชิงเทคนิค การตลาด กฎหมาย และจัดหากิจกรรมทางด้านการตลาด เพื่อจัดทำกลยุทธ์และยกระดับความสามารถเทียบเท่ามาตรฐานซอฟต์แวร์ของประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป

ในเบื้องต้นทาง CBI ได้เข้ามาคัดเลือกตัวแทนซอฟต์แวร์ของไทย โดยความร่วมมือของซอฟต์แวร์พาร์ค และมีบริษัทที่ผ่านการประเมินในปีนี้จำนวน 8 บริษัทได้แก่ MFEC ผู้พัฒนาและให้บริการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศรายใหญ่, SSC Solution ผู้นำทางด้าน Green Software ในระดับโลกโดยเฉพาะโซลูชันด้าน Water Leakage Management, AISOFT ผู้เชี่ยวชาญทางด้านซอฟต์แวร์เพื่อการท่องเที่ยวระดับโลก เชี่ยวชาญด้าน Travel Business Solution, ระบบ Internet Booking Engine, TEAMWORK ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ทางด้าน Collaborative รายใหญ่ของไทย, PROMPTNOW ผู้ผลิตเกมบนโทรศัพท์มือถือ และ Mobile Business Application , ThaiQuest ผู้นำทางด้านซอฟต์แวร์การจัดการด้านข้อมูลต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีของเสิร์ชเอ็นจิ้นอัจฉริยะ, SUVITECH ผู้นำซอฟต์แวร์ด้านโทรคมนาคม, ICE SOLUTION ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Open Source และระบบปฏิบัติการ Linux โดยนำมาพัฒนาและประยุกต์ ใช้งานอย่างจริงจัง

เกณฑ์การคัดเลือกนั้น พิจารณาจากบริษัทที่มีศักยภาพ ตั้งแต่ผลประกอบการ กำลังคน ความสำเร็จของบริษัทในตลาดท้องถิ่น และความเป็นผู้ประกอบการ โดยทุกบริษัทต้องผ่านกระบวนการสัมภาษณ์ความพร้อม ศักยภาพและเข้าร่วมการทำ Workshop ซึ่งทาง CBI ได้ส่งที่ปรึกษาที่มีความชำนาญด้าน ITO outsourcing ในตลาดสหภาพยุโรปจำนวน 2 คนเข้ามาให้ความรู้และคัดเลือกบริษัทซอฟต์แวร์กลุ่มแรกไปตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 ปีที่แล้ว จนได้ประกาศผลไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

หลังจากนั้นทางซอฟต์แวร์พาร์คกับ CBI ได้ส่งตัวแทนซอฟต์แวร์ทั้ง 8 บริษัทไปอบรมที่เนเธอแลนด์ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ร่วมกับกลุ่มประเทศพันธมิตรในโปรแกรม CBI ITO outsourcing 2008-2012 ทั้งสิ้น 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย, อาร์มาเนีย, ศรีลังกา, ปากีสถาน, โคลัมเบีย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และบังคลาเทศ ทั้งหมด 68 บริษัท

“ถึงวันนี้เราได้ผ่านการฝึกตัวแทนซอฟต์แวร์เพื่อไปบุกตลาดอียู ในขั้นที่ 3 จาก 4 ขั้นตอนที่ตั้งไว้ ซึ่งนับจากนี้ทั้ง 8 รายพร้อมแล้วจะเข้าไปทำตลาดนี้อย่างจริงจัง โดยประเดิมด้วยซอฟต์แวร์ของ MFEC ในงานซีบิท ประเทศเยอรมันที่จะถึงนี้ ซึ่งทาง CBI จะออกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพื้นที่การแสดงสินค้าทั้งหมด และหลังจากนั้นบริษัทซอฟต์แวร์ที่เหลือจะได้รับสิทธิ์ในการไปออกงานนิทรรศการต่างๆ ในยุโรปโดยไม่คิดมูลค่าต่อไป” นางสุวิภากล่าว

อย่างไรก็ตามทางบริษัทซอฟต์แวร์ทั้ง 8 ราย จะต้องส่งแผนการส่งออก (Export Marketing Plan) ในปีนี้ให้กับ CBI และซอฟต์แวร์พาร์คพิจารณา ซึ่งทั้งสองหน่วยงานจะส่งทีมที่ปรึกษาเข้าไปปรับแต่งทางกลยุทธ์ เพื่อทำให้แผนมีความเป็นไปได้ในการทำตลาดสหภาพยุโรปอย่างเป็นไปได้สูงสุด

สำหรับแผนงานที่ซอฟต์แวร์พาร์คมีข้อตกลงต่อเนื่องกับ CBI เพื่อทำให้ซอฟต์แวร์ไทยเข้าไปทำตลาดในยุโรปต่อจากนี้คือ จะมีการจัดงาน ITO Law Aspect in EU โดยเปิดโอกาสให้บริษัทซอฟต์แวร์ของไทยทั้งหมดได้เข้ามารับทราบข้อมูลทางด้านกฎหมายต่างๆ ก่อนที่จะเข้าไปทำตลาดยุโรป เช่น กฎหมายลิขสิทธิ์ ฯลฯ คาดว่าจะทำให้บริษัทซอฟต์แวร์ของไทยที่ต้องการส่งออกมีการปรับตัวในทิศทางที่ถูกต้อง หลังจากนั้นจะเน้นเรื่องการสร้างแผนกลยุทธ์ในการทำการตลาดต่อไป

ในส่วนของซอฟต์แวร์พาร์คเองจะมีการรวบรวมฐานข้อมูลผู้ผลิตซอฟต์แวร์ของไทยและแผนการสร้างภาพลักษณ์การตลาดซอฟต์แวร์ประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ ได้แก่ การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพตลาด กลุ่มผู้ประกอบการ การสนับสนุนทางภาครัฐบาลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่กลุ่มลูกค้าในตลาดยุโรป หลังจากนั้นจึงส่งข้อมูลเหล่านี้ให้หน่วยงานของรัฐบาลไทยที่อยู่ในต่างประเทศและหน่วยงานต่างประเทศที่ตั้งในประเทศไทย เพื่อประชาสัมพันธ์โปรแกรมและแนะนำซอฟต์แวร์ของทั้ง 8 บริษัท นอกจากนั้นจะมีการทำแผนกลยุทธ์การทำตลาดแบบผสม หรือ Mix Marketing Channel เพื่อใช้เครือข่ายพันธมิตรและหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ ช่วยการหาตลาด และโอกาสทางธุรกิจ

สำหรับการประเมินผลการดำเนินงานของโครงการนั้น ทั้ง CBI และซอฟต์แวร์พาร์ค จะร่วมดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการหรือ Action Plan ออกมาทุกปี

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่:

ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการตลาด

เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย

คุณพูลสิริ จันทร์เสวี

โทร 0-2583-9992 ต่อ 1485

โทรศัพท์มือถือ 08-1402-6421

อีเมล์ [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ