อ้างว่าแผนลดและขจัดมลพิษที่ท้องถิ่นจัดทำอาจไม่เป็นที่ยอมรับหรือผิดแปลกไปจากปัจจุบัน ส่งผลต่อภาพลักษณ์และความรู้สึกของนักลงทุน แต่ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 มาตรา 37 ระบุว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดจะรวมแผนลดและขจัดมลพิษที่ท้องถิ่นจัดทำเข้าในแผนสิ่งแวดล้อมจังหวัดและเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
อ้างว่า การประกาศเขตควบคุมมลพิษจะกระทบต่อการลงทุนให้หยุดชะงักและย้ายฐานการลงทุนไปประเทศอื่น แต่การวิเคราะห์การเติบโตทางเศรษฐกิจของ 12 จังหวัดที่ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้ว ไม่กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด ในบางกรณี เช่น สมุทรปราการและสระบุรี เศรษฐกิจเติบโตสูงกว่าก่อนประกาศเขตควบคุมมลพิษ ในขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ไม่ยอมแสดงข้อมูลหลักฐานที่เชื่อถือได้แต่อย่างใด ได้แต่กล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยมาหลายปีแล้ว
อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ประสบปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ตั้งแต่ก่อนการตัดสินของศาลแล้ว โดยข้อมูลทางธุรกิจแสดงว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์และราคาหุ้นลดลงมาก ตัวอย่างเช่น บมจ.ปตท. ประกาศปรับแผนการลงทุนแล้ว แต่เมื่อมีคำพิพากษาศาลปกครองระยองออกมา กลับใช้เป็นแพะรับบาป ประกาศทบทวนและชะลอการลงทุนทันที ทั้งมีกระแสว่าจะอ้างปลดคนงานอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น มาตรการลดและขจัดมลพิษ เช่น เทคโนโลยีสะอาด การเพิ่มประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานหมุนเวียน สร้างการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจในสัดส่วนที่สูงกว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ น่าสังเวช ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยึดติดกับผลประโยชน์ส่วนตนจากการพัฒนาอุตสาหกรรมสกปรกและอันตรายที่หนีจากประเทศอื่นมาทำลายบ้านเรามาหลายสิบปี จนคิดไม่ออกและยอมรับไม่ได้กับเส้นทางการพัฒนาที่สะอาด พอเพียง และยั่งยืน แต่ยังดื้อดึงที่จะฉุดลากสังคมไทยให้อยู่ในเส้นทางการเบียดเบียนที่ไม่สิ้นสุดเช่นนี้ต่อไป
อ้างว่า จะกระทบการท่องเที่ยวและผักผลไม้จังหวัดระยองจะขายไม่ได้ แต่พื้นที่ซึ่งประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้ว เช่น พัทยา ชะอำ หัวหิน ภูเก็ต หมู่เกาะพีพี หาดใหญ่ ปทุมธานี นนทบุรี และนครปฐม ไม่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการขายผลิตผลการเกษตรและประมงแต่อย่างใด
อ้างว่า ให้ทุเลาบังคับใช้ประกาศเขตควบคุมมลพิษ และตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมา ศึกษาผลกระทบ เพราะจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งการศึกษานี้จะต้องใช้เวลานาน แต่การประเมินศักยภาพการรองรับมลพิษในพื้นที่มาบตาพุด ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติปี 2541 ดำเนินการจนถึงปัจจุบันมากกว่าสิบปีแล้ว หน่วยงานอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมที่รับผิดชอบ ยังไม่สามารถสรุปผลการศึกษาได้ว่ามลพิษเต็มศักยภาพหรือยัง ในขณะที่โรงงานสร้างเพิ่มขึ้นแล้วมากกว่า 100 โครงการในช่วงระหว่างทำการศึกษา
ประชาชนชาวมาบตาพุดและบ้านฉาง และเครือข่ายบุคคลองค์กรที่ร่วมลงชื่อ มีความเห็นว่า การให้ข่าวที่มีลักษณะบิดเบือนจากกฎหมายและข้อเท็จจริง ปราศจากข้อมูลหลักฐานสนับสนุน มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่สาธารณชน ภาคเอกชนทั่วไป และรัฐบาล แสดงถึงความไม่เคารพต่อหลักนิติธรรม หลักธรรมาภิบาล และหลักความรับผิดชอบของภาคธุรกิจต่อสังคม
ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีดังนี้
1. ให้ผู้ที่ออกมาให้ข่าวและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณะ โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขป้องกัน โดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษที่เริ่มเข้าไปดำเนินการในพื้นที่แล้ว
2. หากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยืนยันว่า การประกาศเขตควบคุมมลพิษในกรณีจังหวัดระยอง จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งตรงกันข้ามกับทั้ง 12 จังหวัดก่อนหน้านี้ ให้แสดงข้อมูลหลักฐานที่เชื่อถือได้ออกมา เพื่อให้เกิดการตรวจสอบกันในสังคมและนำไปสู่การตัดสินใจของรัฐที่อยู่บนฐานของข้อมูลและความรู้ มิใช่การกล่าวอ้างความรู้สึกอย่างเลื่อนลอยแล้วใช้ตัวเลขการลงทุนแสนล้านมาบังหน้า
3. รัฐบาลต้องตรวจสอบข้อมูลหลักฐานและข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชน ก่อนการตัดสินใจอุทธรณ์หรือการตัดสินใจแนวทางการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาในอนาคต โดยไม่หลงเชื่อคำกล่าวอ้างที่ไม่มีข้อมูลหลักฐานของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม
4. ให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมุ่งเน้นการลดปัญหามลพิษ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนที่ปรากฏอยู่จริงในพื้นที่ มากกว่าที่จะกล่าวอ้างแต่เรื่องการทำตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาพื้นที่อุตสาหกรรมทับซ้อนชุมชนรอบมาบตาพุดและไม่มีพื้นที่กันชน โรงงานติดกับวัด โรงเรียน และบ้านเรือนของประชาชน ปัญหาจากการใช้น้ำบ่อตื้นที่ปนเปื้อนโลหะหนักเนื่องจากยังไม่มีประปา ปัญหาอุบัติภัยสารเคมี ซึ่งเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และปัญหาการเจ็บป่วยของชาวบ้าน
5. ให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและภาคเอกชน ตระหนักถึงประโยชน์และโอกาสที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว เกษตรกรรมและประมง เทคโนโลยีสะอาด การอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียน ฯลฯ ซึ่งสามารถสร้างงานและพัฒนาเศรษฐกิจในสัดส่วนที่มากกว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่
ชาวบ้านมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง
ชาวบ้านบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง
เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก
กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เครือข่ายประชาชนต่อต้านโรงไฟฟ้า 4 พื้นที่ ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา จ.สระบุรี และ จ.ชุมพร