นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังร่วมในพิธีปล่อยเรือ Halul 40 (ฮาลูล โฟร์ตี้) ซึ่งเป็นเรืออเนกประสงค์ที่บริษัท อิตัลไทย มารีน จำกัด ผลิตให้กับบริษัท ฮาลูล ออฟชอร์ เซอร์วิส คอมปานี จากประเทศการ์ตา ว่า อุตสาหกรรมการต่อเรือและซ่อมเรือของไทยในปัจจุบัน มีศักยภาพในด้านคุณภาพการผลิต และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ทำให้ทิศทางของอุตสาหกรรมต่อเรือของไทย มีแนวโน้มเติบโตดี
ประกอบกับความต้องการของเรือคอนเทนเนอร์ของตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ไทยได้รับยอดสั่งต่อเรือสูงขึ้นด้วย โดยในปี 2551 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนในการดำเนินกิจการต่อเรือหรือซ่อมเรือขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอส มูลค่ากว่า 460 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภาครัฐมีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ และซ่อมเรือในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำในภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมา บีโอไอก็ได้ให้การส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการต่อเรื่อและซ่อมเรือมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดให้กิจการลงทุนดังกล่าวเป็นกิจการที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศเป็นพิเศษ ให้ได้รับ
สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดเป็นเวลา 8 ปี โดยไม่กำหนดสัดส่วนการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
ด้านนายสนิท จอมสง่าวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวางแผน และควบคุม บริษัท อิตัลไทย มารีน จำกัด กล่าวว่า กิจการอู่ต่อเรือของบริษัท มีแนวโน้มที่ดี โดยในปี 2552 นี้ คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 20-30% เนื่องจากภายหลังการปรับราคาน้ำมันทั่วโลกเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้องมีการลงทุนผลิตน้ำมันมากขึ้น ทำให้เรือเอนกประสงค์เพื่อให้บริการสำหรับแท่นเจาะน้ำมันในทะเล มีความจำเป็นเพิ่มตามไปด้วย
ทั้งนี้บริษัทวางแผนที่จะลงทุนเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าจากตะวันออกกลางและยุโรป ซึ่งให้ความสนใจในการต่อเรือในประเทศไทย เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในคุณภาพ และแรงงานที่มีฝีมือในการต่อเรือสูง เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค
“แม้ว่าการผลิตเรือในไทยจะมีต้นทุนสูงกว่าประเทศอื่น เช่น จีน เวียดนาม สิงคโปร์ ถึง 30-40% เนื่องจากต้องนำเข้าอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจากต่างประเทศสูงถึง 90% แต่จากแรงงานที่มีฝีมือและคุณภาพการผลิต จึงทำให้ลูกค้ายังให้ความสนใจที่จะผลิตเรือที่เมืองไทย ทั้งนี้หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบีโอไอ เข้ามาสนับสนุนในด้านของการลดหย่อนภาษีการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ หรือสนับสนุนให้มีการสร้างผู้รับช่วงการผลิตที่มีคุณภาพเพื่อป้อนให้กับความต้องการของอุตสาหกรรมนี้ได้เพิ่มขึ้น จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการอู่ต่อเรือไทยได้อีกมาก” นายสนิท กล่าว
ล่าสุด บริษัทได้จัดพิธีปล่อยเรือ Halul 40 (ฮาลูล โฟร์ตี้) ลงน้ำ หลังจากบริษัทได้รับความไว้วางใจจากบริษัท ฮาลูล ออฟชอร์ เซอร์วิส คอมปานี จากประเทศการ์ตา ในการผลิตเรือ ขนาด 70 เมตร กว้าง 16 เมตร น้ำหนักบรรทุก 3,000 ตันกรอส สำหรับให้บริการสำหรับแท่นเจาะน้ำมันในทะเล และ จะเริ่มทยอยส่งมอบเรือที่เหลือให้กับลูกค้าอีก 5 ลำภายในปี 2553