ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิจัยผู้ออกแบบระบบบำนาญแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติขึ้นเพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพให้ครอบคลุมถ้วนหน้า โดยให้ประชาชนทุกคนที่ไม่ใช่ข้าราชการหรือข้าราชการบำนาญ เข้ามามีส่วนร่วมในการออม สำหรับผู้มีอายุ 20 -59 ปี และรัฐบาลมีบทบาทในการอุดหนุนทางการเงินบางส่วนเท่านั้น ส่วนผู้มีอายุมากว่า 60 ปีขึ้นไป หมายถึงผู้ที่รับเบี้ยยังชีพในปัจจุบัน รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบทางการเงินทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถออมเงินภายใต้ระบบใหม่ได้ รัฐบาลจ่ายให้ทุกคน ยกเว้นข้าราชการคนละ 500 บาทต่อเดือน ทัน เข้าเป็นสมาชิกกองทุนบำนาญแห่งชาติ โดยสมาชิกกองทุนฯ ที่เข้าในระบบใหม่จะได้รับสิทธิประโยชน์เป็นเงินบำนาญชราภาพรายเดือนเมื่ออายุ 60 ปีบริบูรณ์ ทั้งยังมีเงินบำนาญทุพพลภาพ เงินบำเหน็จตกทอด และเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ด้วย
ดร.อัมมมาร กล่าวว่า สำหรับงานออกแบบระบบบำนาญของชาตินอกจากงานศึกษาวิจัยในชุดนี้ทราบว่ายังมีของกระทรวงการคลังอีกชุดหนึ่งซึ่งถึงขั้นเสนอออกเป็นกฎหมาย ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจะต้องช่วยกันคิดและถอดออกมาตอบโจทย์ที่เปิดให้รับฟังวันนี้ โดยเฉพาะข้อสงสัยเรื่องจำนวนเงินเริ่มต้น 500 บาท ที่รัฐบาลปัจจุบันสัญญาว่าจะจ่ายเป็นเงินเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งต่อไปเงินจำนวนนี้จะปูดขึ้น ยังไม่รวมกับอัตราเงินเฟ้อที่จะเกิดต่อไป อยากฝากให้ช่วยหาทางจัดการไฟแนนซ์ให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด
“ตรงนี้คือข้อแตกต่างระหว่างประชานิยมที่แจกดะ กับรัฐสวัสดิการที่รัฐคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนให้อยู่ในฐานที่สามารถเผชิญความเสี่ยงในชีวิต ซึ่งรัฐจะคำนึงถึงตลอดว่าเงินที่ได้มาจ่ายนั้นมาจากส่วนไหน ขณะที่คนทั่วไปมักจะคิดว่ารัฐเป็นอาเสี่ย ก็จะคอยแต่รอรับการช่วยเหลืออย่างเดียว ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้วทุกบาททุกสตางค์ที่รัฐมีนั้นมาจากพวกเรา ต้องหาเงินจากประชาชนมาเพื่อให้กับประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เป็นเงินฟรีมาจากรัฐที่ลอยอยู่บนฟ้า แต่มาจากประชาชนด้วยกัน” ดร.อัมมาร กล่าว
ดร.วรเวศม์ ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับรายงานวิจัย(ร่าง) การออกแบบระบบบำนาญแห่งชาติฉบับนี้ ซึ่งได้มีการจัดระดมความเห็นจากหลายฝ่ายในวันนี้ ทำให้เห็นถึงข้อห่วงใยที่ต้องกลับไปเพิ่มเติมในบางประเด็นย่อยอาทิ เรื่องช่วงอายุของสมาชิกฯ เรื่องงานการบริหาร ฯลฯแต่ในส่วนของโครงสร้างหลักทุกฝ่ายมีความเห็นที่สอดคล้องตรงกัน สามารถจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการผลักดันระบบการออมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาในเบื้องต้น ก่อนที่จะเสนอต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานผลักดันให้เกิดนโยบายนี้อย่างเป็นรูปธรรม ตรงนี้อยู่ที่ฝ่ายการเมืองว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป.-
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
เนาวรัตน์(เล็ก) ชุมยวง
www.thainhf.org
02 511-5855 ต่อ 116