สวทช. หนุน เอกชน ตั้ง“ศูนย์วิจัยและทดสอบผ้าเบรก” แห่งแรกของไทย

พฤหัส ๑๒ มีนาคม ๒๐๐๙ ๑๗:๔๑
‘ผ้าเบรก’ เป็นชิ้นส่วนหนึ่งที่สำคัญและขาดไม่ได้สำหรับรถทุกประเภท ปัจจุบันผู้ผลิตผ้าเบรกนอกจากต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนแล้ว ยังต้องใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมด้วย บริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด ในเครือบริษัท เอเชียคอมแพ็ค จำกัด ผู้นำด้านการผลิตเบรก และตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบรกครบวงจร มานานกว่า 30 ปี ในฐานะบริษัทไทยรายแรกที่ได้วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผ้าเบรก “ ไม่มีใยหิน หรือ ไร้ใยหิน ” ที่เรียกว่า NAO หรือ NON Asbestos Organic เป็นวัสดุที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม มีคุณสมบัติเดียวกับวัสดุที่ใช้ทำเสื้อเกราะกันกระสุน ระบายความร้อนได้ดี และมีประสิทธิภาพการเบรกที่สม่ำเสมอ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์สู่ตลาดโลก (OEM ) และต่อยอดการพัฒนาสู่ผ้าเบรก Nano เป็นรายแรกของไทย

ล่าสุด บริษัทฯ ยังได้จัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อการวิจัยและทดสอบการผลิตชิ้นส่วนเบรกรถยนต์ขึ้น เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้เป็นศูนย์วิจัยและทดสอบประสิทธิภาพผ้าเบรกที่มีความแม่นยำได้มาตรฐานระดับสากล และพัฒนาการออกแบบระบบเบรกรถยนต์ของไทยในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาการนำผ้าเบรกที่ผลิตขึ้นออกไปทดสอบประสิทธิภาพยังต่างประเทศซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงครั้งละ 150,000 บาท ( ไม่รวมค่าขนส่ง ) และต้องใช้ระยะเวลานานถึง 30 วัน ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาผ้าเบรกของไทยมาโดยตลอด

ทั้งนี้ ในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับจังหวัด ครั้งที่ 3)” ระหว่างวันที่ 9-10 มีนาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมลองบีช ชะอำ จ.เพชรบุรี เพื่อหารูปแบบการดำเนินงานบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เหมาะสมร่วมกับกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร โดยมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้กว่า 250 คน ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนท้องถิ่น และภาคประชาชน

ในโอกาสนี้ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำคณะผู้บริหารจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และคณะติดตาม เดินทางเข้าเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการเพื่อการวิจัยและทดสอบการผลิตชิ้นส่วนเบรกรถยนต์ของบริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด ต.หนองชุมพล อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี เพื่อรับทราบถึงประโยชน์ที่ได้จากการเข้ารับบริการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP ) และโครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน (CD) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่ปี 2547 มาจนถึงปัจจุบัน

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวภายหลังการเยี่ยมชมว่า การนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปถ่ายทอดให้กับภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการไทยและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และยังเป็นการสนองตอบนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเห็นความเชื่อมโยงของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับเศรษฐกิจชุมชน เกษตร อุตสาหกรรม และการบริการ

“ กิจกรรมการสนับสนุนภาคเอกชนของโครงการ iTAP ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. ถือเป็นโครงการที่ดี ที่เชื่อมโยงการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปร่วมมือกับภาคเอกชน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับเอกชน เช่นเดียวกับบริษัท คอนแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด ถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่ได้มีการเตรียมพร้อมในการนำองค์ความรู้เข้าไปเพิ่มศักยภาพอย่างต่อเนื่อง จนบริษัทเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25 ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกเช่นนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจที่เกิดจากฝีมือของคนไทย ซึ่งทางกระทรวงฯ ยังต้องการเห็นการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้นด้วยกิจกรรมการสนับสนุนภาคเอกชนของ สวทช. ให้กระจายออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศมากขึ้น ” รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว

นายมีชัย ศรีวิบูลย์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ เติบโตขึ้นจากการเป็นผู้ผลิตผ้าเบรกขนาดเล็ก ปัจจุบันสามารถผลิตป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือ OEM ได้เพราะจากการที่บริษัทฯ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และยกระดับเทคโนโลยีมานานกว่า 7 ปี ด้วยการสนับสนุนและช่วยเหลือจากโครงการ iTAP (สวทช.) ทำให้วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนัก ซึ่งจะเห็นได้จากยอดขายของบริษัทฯ ที่เพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านบาทเมื่อปี 2547 เป็น 310 ล้านบาทในปี 2551 มีพนักงานมากกว่า 500 คน และมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิม 700,000 ชิ้นในปี 2547 เพิ่มขึ้นเป็น 1,500,000 ชิ้นในปี 2551

นอกจากนี้ ยังลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์เบรกจากต่างประเทศได้ถึง 1,050,000 ชุดต่อปี ลดค่าใช้จ่ายในการส่งผลิตภัณฑ์เบรกออกไปทดสอบคุณภาพในต่างประเทศได้ถึง 15 ล้านบาทต่อปี และจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของบริษัทฯ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการส่งออกจากเดิม 95 : 5 (ในประเทศ : ต่างประเทศ ) เป็น 70 : 30 โดยกระจายไปยัง 30 ประเทศทั่วโลกได้อย่างมั่นใจ คาดว่า จะมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ต่อปี

โดยความช่วยเหลือที่บริษัทฯได้รับจากโครงการ iTAP ในด้านของเงินสนับสนุนและจัดหาผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและต่างประเทศเข้ามาเป็นที่ปรึกษา รวมทั้งสิ้น 7 โครงการ ประกอบด้วย การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผ้าเบรกชนิดไม่มีแร่ใยหิน , การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผ้าเบรกชนิดไม่มีแร่ใยหินสำหรับรถยนต์นั่ง 4 ล้อ และรถกระบะ , การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผ้าเบรกชนิดไม่มีแร่ใยหินสำหรับรถขนาดใหญ่ , การพัฒนาความรู้พื้นฐานด้านวัตถุดิบและกระบวนการผลิตเพื่อเตรียมพร้อมในการวิจัยและพัฒนาผ้าเบรก , การพัฒนาลดต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตผ้าเบรกชนิดไม่มีแร่ใยหิน , การถ่ายทอดเทคโนโลยีการประเมินประสิทธิภาพผ้าเบรก และ การศึกษาผลกระทบและประสิทธิภาพผ้าเบรกเชิงเสียงรบกวนและสัมประสิทธิ์ความเสียดทาน

สำหรับการจัดตั้งศูนย์วิจัยและทดสอบผ้าเบรกนั้น บริษัทฯ ได้รับสนับสนุนด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จากโครงการ CD เป็นเงินจำนวน 26.85 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องเบรกไดนาโมมิเตอร์ ( Brake Dynamoteter ) จากประเทศญี่ปุ่น และจัดตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อการวิจัยและทดสอบการผลิตชิ้นส่วนเบรกรถยนต์ เพื่อใช้ทดสอบประสิทธิภาพผ้าเบรกที่บริษัทพัฒนาขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์จากคู่แข่งและ OEM ซึ่งเครื่องดังกล่าวสามารถทดสอบแรงเสียดทานของเบรกชนิดต่างๆ สามารถจำลองทุกสถานการณ์ในการเบรกได้อย่างถูกต้องแม่นยำควบคุมคุณภาพได้ตามมาตรฐานสากล และสามารถรู้ผลการประเมินได้ในเวลาเพียง 3 วัน จากเดิมที่ต้องส่งออกไปทดสอบในต่างประเทศนานถึง 30 วัน ทำให้การปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้รวดเร็วขึ้น และ สามารถแข่งขันกับตลาดได้มากขึ้น

“ ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโลก แม้จะทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนต่างประสบปัญหาอย่างหนัก แต่ยังมีปัจจัยบวกอยู่บ้าง เช่น เรื่องของราคาน้ำมัน , มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และการที่ยังมีคนใช้รถใช้ถนนอยู่ ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้มองว่าเป็นโอกาสดีของบริษัท เพราะผลิตภัณฑ์ที่ดีได้คุณภาพมาตรฐานระดับสากล ( ISO/TS16949) ที่ทั่วโลกยอมรับและมีราคาถูกคุ้มค่าจะเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคต้องการ เชื่อมั่นว่า ผลจากการลงทุนในการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าเบรกในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบันบริษัทฯ มีขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น และจะเป็นโอกาสดีของบริษัทในตลาดชิ้นส่วนทดแทน หรือ Aftermarket ” นายมีชัย กล่าว

จากรางวัลที่ได้รับ ไม่ว่า จะเป็น“ Best Green Product Development จากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย ( iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผ้าเบรกไร้ใยหิน ( Non — Asbestos Organic) รางวัล “sme POWER Awards 2008” จากโครงการ sme POWER และ รางวัล Bualuang SME Awards ในฐานะสถานประกอบการดีเด่นที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งด้านการบริหารและการผลิตจาก ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นการการันตีถึงการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง ทำให้ธุรกิจของบริษัทฯ เติบโตขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP

คุณนก โทร.0-2270-1350-4 ต่อ 115

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version