กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--ววท.
ดาวค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์ ปี 2548
ในงานประชุมวิชาการ วทท. ครั้งที่ 31
นายนรเทพ พิกุลทอง
นักเรียนระดับชั้น ม.5 โรงเรียน สุราษฎร์พิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
นาย นรเทพ พิกุลทอง อายุ 17 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา
จังหวัด สุราษฎร์ธานี เคยร่วมกิจกรรมวิทยาศาสตร์ การแข่งขั้นโครงงานวิทยาศาสตร์มามากกว่า 10 ครั้ง และได้รับรางวัลสูงสุดมา 3 ครั้ง คือการแข่งขั้นโครงงานวิทยาศาสตร์สาขาชีวะภาพ เรื่องสารเร่งรากจากกาแฟ ได้รับรางวัลที่ 1 ของประเทศ จัดโดย สมาคมวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2546 และ พ.ศ. 2547 เคยได้รับรางวัลดังนี้
1. รางวัลโครงงานวิทยาศาสตร์สาขาชีวภาพ เรื่อง ผลของกลอยต่อการสืบพันธุ์ของสัตว์เพศเมีย
2. ได้รับรางวัลที่ 1 ของประเทศ จัดโดย 89ปี โรงเรียน เซนคาร์เบียล
ซึ่งทั้งสองรางวัลได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ พ.ศ 2548 เรื่อง กระถินไล่แมลงวัน ได้รับรางวัลที่ 2 ของประเทศ แต่การแข่งขั้นที่ภาคภูมิใจคือ การเสนอขอรับรางวัลของสภาวิจัย เรื่องเครื่องปลอกไข่ ถึงจะไม่ได้รางวัลแต่เป็นการแข่งขันที่มีนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันเพียงทีมเดียว และปัจจุบันเป็นนักเรียนในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project : jstp) รุ่นที่ 8 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และล่าสุด วันที่ 22 ต.ค .48 ได้เข้าร่วมแข่งขันโครงงานของ ป.ป.ส และ
ได้เข้ารอบ 3 ทีมสุดท้าย รับเงิน รางวัล หนึ่งแสนบาท
แรงบันดาลใจในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ คือ ผมอยากเป็นผู้พิสูจน์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้วิทยาศาสตร์ เพื่อหาคำตอบแก่ตนเอง และ คนอื่นๆ ที่มีความเชื่อแต่ไม่มีทฤษฎีมากล่าวอ้างไห้ได้รู้จริงอย่างชัดเจน ภายไต้ปรัชญาที่ว่า จากรากหญ้าสู้รากแก้ว จากภูมิปัญญาสู้ห้องเรียน
รางวัลดาวค่ายวิทยาศาสตร์เยาวชน ที่ได้รับในปีนี้ ที่ได้มา ก็ยังงงๆๆ อยู่เหมือนกันครับแต่ก็คิดว่า
ได้มาจากเอกลักษณ์ของตนเองนะครับ ที่เป็นคนที่สามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่นๆ ได้ง่ายนั่นเองครับ และที่สำคัญสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ต้องการให้เรามีความสุขควบคู่กับความรู้ และได้เพื่อน
ใหม่ๆ ผมเลยทำตามจุดประสงค์นี้ครับ
ผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ที่นำมาจัดแสดงในบูธ เป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่องกระถินไล่แมลงวัน จากในช่วงเดือน เมษายน ถึงเดือน มิถุนายน เป็นช่วงที่มีการระบาดของแมลงวัน สร้างความหวั่นวิตกกับทุกๆคน นอกจากนั้นแมลงวันยังเป็นพาหะที่สำคัญนำโรคท้องร่วงมาสู่คน ร้านอาหารที่มีแมลงวันตอมอาหาร เป็นภาพที่ทำให้ทุกคนไม่อยากแวะเข้าไปในร้านนั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้คณะผู้จัดทำคิดหาวิธีการในการไล่แมลงวัน โดยอาศัยความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น พบว่าในการทำปลาส้มฟักมีการนำเมล็ดของกระถินใส่ลงไปเพื่อป้องกันการเกิดหนอนแมลงวัน ดังนั้นทางคณะผู้จัดทำจึงนำเมล็ดกระถินมาทำการทดลองศึกษาค้นคว้าเพื่อหาว่า กระถินสามารถไล่แมลงวันได้จริงหรือไม่ และทำการประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป ซึ่งหลังจากการศึกษาและจากการทดลองพบว่า ผงกระถินไม่สามารถทำลายหนอนแมลงวันได้ แต่สามารถป้องกันไม่ให้แมลงวันเข้ามาได้โดย พบว่า ส่วนต่างๆของต้นกระถินที่นำมาใช้มีสารที่สามารถป้องกันแมลงวันได้ในปริมาณที่แตกต่างกัน โดยที่เมล็ดกระถินแก่คั่วและบด สามารถป้องกันการตอมของแมลงวันได้ดีที่สุด ตามด้วยเมล็ดกระถินสุก เมล็ดกระถินอ่อน และ ใบกระถิน ตามลำดับ สารที่ออกฤทธิ์ในการป้องกันแมลงวันได้ดีที่สุดเป็นสารที่มีขั้ว เนื่องจากสารละลายออกมากับตัวทำละลายที่มีขั้ว เช่น น้ำ และเอทิลแอลกอฮอล์ โดยที่ผงกระถิน และสารสกัดที่ได้จากการแช่น้ำ และสกัดด้วยเอทิลแอลกอฮอล์มีความสามารถในการป้องกันแมลงวันได้ดีเหมือนกัน เมื่อลองเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของเอทิลแอลกอฮอล์ในการสกัดพบว่า ที่ความเข้มข้น 10 % สามารถสกัดสารที่มีฤทธิ์ป้องกันการตอมของแมลงวันได้ดีที่สุดที่ปริมาณผงกระถิน20 กรัม ต่อปริมาตรเอทิลแอลกอฮอล์150 ลูกบาศก์เซนติเมตร ในการหาแนวทางมาประยุกต์ใช้สารสกัดจากเมล็ดกระถินในการป้องกันแมลงวันพบว่า การใช้เครื่องระเหยสารโดยใช้ความร้อนจากไฟฟ้า ซึ่งบรรจุสารสกัดกระถินด้วยเอทิลแอลกอฮอล์สามารถป้องกันแมลงวันได้โดยมีรัศมีของการกระจายกลิ่นได้ไกลถึง 1.5 เมตร และพบว่าสารสกัดที่ได้จากกระถินไม่สามารถป้องกันแมลงวันผลไม้ได้
จากการทดลองทั้งหมดสามารถยืนยันภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่องการใส่เมล็ดกระถินในปลาส้มฟักแล้วไม่เกิดหนอนแมลงวันได้ ทั้งนี้ประเด็นที่น่าสนใจต่อไปในการค้นหาคือ สารที่ออกฤทธิ์ป้องกันแมลงวันได้นี้คือสารใดมีเพียงชนิดเดียวหรือไม่ มีคุณสมบัติอย่างไร และสามารถนำมาพัฒนาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้นได้หรือไม่ คำถามทั้งหมดเหล่านี้ควรได้รัยการหาคำตอบในโอกาสต่อไป
ในสายตาของผม มีความรู้สึกต่ออาชีพนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติมากครับ แต่ก็ต้องใช้ความอดทน สูงมาครับ เพราะจากที่ผมได้ไปเรียนรู้การทำงานของนักวิจัย ตอนเข้าค่ายโครงการ พัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน เลยได้รู้ว่ากว่าที่จะได้ผลการทดลองนั้นต้องใช้ความอดทนสูงมากครับ
สิ่งที่ผมอยากจะฝากบอกเด็กและเยาวชนไทยที่สนใจวิทยาศาสตร์ คือ จงทำในสิ่งที่รัก และมีความสุขกับงานที่ทำ และที่สำคัญ วิทยาศาสตร์มี คำตอบสำหรับ ข้อข้องใจของคุณ
ผมมีความใฝ่ฝันอยากประสบผลสำเร็จในเส้นทางอาชีพนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยเหมือนกัน
ก็แน่นอนครับ เพราะผมเริ่มเดินในเส้นทางอาชีพนักวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่เด็๋กแล้วครับ และเริ่มชัดเจนเมื่อโตขึ้นเรื่อยๆ ครับ
สำหรับความคาดหวังในอนาคตเมื่อเติบโตขึ้นผมอยากจะมีอาชีพ เป็นนักพฤกษศาสตร์ครับ จะได้อยู่กับต้นไม้ ก็สืบเนื่องมาจากการที่ผมได้มีโอกาสเป็นตัวแทนศึกษาพรรณไม้ตัวอย่างของโรงเรียน ในโครงการสวนพฤษศาสตร์ในโรงเรียน อันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช (เรื่อง ต้นกลอย) สามารถเข้ามาอ่านข้อมูลเพิมเติมได้ที่ www.srp.ac.th ครับ
และผมอยากให้ รัฐบาลส่งเสริมเด็กและเยาวชนในแง่การเรียน — การทำวิจัยวิทยาศาสตร์ กับเด็กนักเรียนในชนบทครับ เพราะในชนบท มีเด็กอีกมากมายที่ยังไม่ได้รับ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ครับ
ผมมีข้อแนะนำและชักชวนเพื่อน ๆ และรุ่นน้องที่สนใจคิดทำโครงงานวิทยาศาสตร์ให้สมัครมาเข้าร่วม
โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน ( jstp) ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งนะครับ สำหรับผู้สนใจ การทำวิจัยวิทยาศาสตร์ ลองดูนะครับ
งานประชุมวิชาการ วทท. ที่จัดขึ้นทุกปี มีผลต่อการกระตุ้นความสนใจของเด็กไทยอย่างมาก กระตุ้นความสนใจและใส่ใจของเด็กและเยาวชนไทยได้มากเลยครับ เพราะทำได้ตัวเองเห็นผลงานต่างๆ มากมาย ซึ่งเป็นตัวจุดประกายความคิดของตนเอง ในเรื่องต่างๆ ได้มากเลยครับ มีผลต่อการกระตุ้นความสนใจของเด็กไทยซึ่งมีความสามารถหรือศักยภาพที่จะสร้างสรรค์ผลงานได้ ได้ซึมซับรับเอาความรู้และบรรยากาศการนำเสนอผลงานวิจัยที่หลากหลายครับ
ดาวค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์ ปี 2548
ในงานประชุมวิชาการ วทท. ครั้งที่ 31
ด.ญ. พิชามญชุ์ นพวงศ์
ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้นประถม 6 โรงเรียนดาราวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่หนูเคยเข้าร่วมนั้นก็มีดังนี้
- ปีพ.ศ. 2545 (ป.3) หนูเคยสอบ สสวท. วิชาวิทยาศาสตร์ ของระดับชั้น ป.3 ในโครงการพัฒนาอัฉริยะภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตอนนั้นได้เป็นนักเรียนในโครงการพัฒนาอัฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ประจำปี 2545 และยังได้รับรางวัลเหรียญเงินจากการสอบภาคปฏิบัติที่ กทม. รอบสุดท้ายด้วยค่ะ
- ปีพ.ศ. 2546 (ป.4) หนูก็ได้สอบ สสวท. วิชาวิทยาศาสตร์ ของระดับชั้น ป.6 ในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เป็นนักเรียนในโครงการพัฒนาอัฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ประจำปี2546(ผ่านรอบแรก)
- ปีพ.ศ. 2547 (ป.5) หนูไม่ผ่านรอบที่สองปีที่แล้ว ก็เลยสอบอีกครั้ง แต่ปรากฏว่าผ่านแค่รอบแรกอีกเช่นเดิม
- และในปีเดียวกันนี้ เคยไปตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ในสัปดาห์วิชาการที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย
จ.เชียงใหม่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่2ค่ะ
ในการเข้าค่ายเวที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาตินั้น ได้แข่งตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ระดับประถม แต่ไม่ได้แข่งโครงงานวิทยาศาสตร์ ก็เลยไม่สามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับการทำโครงงานมากนักค่ะ คิดว่าการทำโครงงานนั้นเป็นการฝึกตัวเองให้มีความคิดสร้างสรรค์ในการค้นคว้าสิ่งใหม่ ๆ เนื่องจากรอบ ๆ ตัวเรามีสิ่งที่น่าสนใจและค้นหามากมาย และการทำโครงงานยังเป็นการฝึกทักษะทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคตก็ได้ค่ะ
สำหรับรางวัลดาวค่ายวิทยาศาสตร์เยาวชน ที่ได้รับในปีนี้ ก็ได้มาโดยที่อาจารย์ที่ค่ายเขาสุ่มชื่อตัวแทนจากภาคต่าง ๆ ระดับประถม แล้วก็ให้โหวตกัน โดยใครที่ได้รับเสียงปรบมือดังที่สุด คนนั้นได้เป็นดาวค่ะ แต่ตอนนั้นคะแนนใกล้เคียงกันมาก ก็เลยให้กรรมการช่วยตัดสินอีกที ปรากฏว่าได้เป็นดาวระดับประถม ตอนนั้นก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมอาจารย์ถึงคัดเลือกเป็นดาว อาจเป็นเพราะโรงเรียนดาราวิทยาลัยใส่กระโปรงแดงก็ได้มั้งค่ะ เลยดูเด่น (หัวเราะ) แต่อย่างไรก็ตาม หนูก็คิดว่าการเป็นดาวนั้น คือเราได้รับการสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ก็ทำให้ภาคภูมิใจเช่นกันค่ะ
โครงงานวิทยาศาสตร์ที่จัดแสดงในบูธที่ได้ไปชมมาแล้วนั้น เท่าที่จำได้ก็มี การลดตะกั่วในแหล่งน้ำด้วยสารชีวภาพ การทำหมึกพิมพ์จากน้ำมันพืช หรือการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในทะเล เป็นต้น ซึ่งโครงงานเหล่านี้ เป็นการเริ่มต้นผลงานวิจัยชิ้นเล็ก ๆ ของพี่ ๆ ที่มีความสามารถมาก ซึ่งอาจนำไปสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถและโด่งดังในอนาคตก็ได้ค่ะ ก็จะคอยสนับสนุนผลงานที่พี่ ๆ ได้คิดขึ้นมาทุกชิ้นค่ะ
คิดว่า การเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยนั้น เราได้ค้นพบสิ่งที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น หรือได้พัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขี้นไป ทำให้เราเป็นคนที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และยิ่งถ้าเราค้นพบสิ่งแปลกใหม่นั้น คนส่วนใหญ่ก็อาจนำทฤษฎีที่เราค้นพบไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันก็ได้ การเป็นนักวิทยาศาสตร์นั้นบางทีเราอาจได้รับคำวิจารณ์จากผู้อื่นบ้าง เราก็ต้องรับฟังความคิดของผู้อื่น เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงผลงานให้ดีขึ้นต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม วิทยาศาสตร์ได้ก่อให้เกิดประโยชน์มากมายแก่มวลมนุษยชาติ เนื่องจากถ้าไม่มีนักวิทยาศาสตร์เลยโลกของเราก็คงลำบากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากค่ะ
สำหรับเยาวชนคนไหนที่มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ขอฝากบอกว่าให้พยายามค้นคว้า และให้ความสำคัญกับสิ่งที่สนใจให้มากที่สุด และก็พยายามตั้งใจศึกษาวิทยาศาสตร์ในระดับที่สูง ๆ ขึ้นไป เผื่อว่าสักวัน พี่ ๆ เพื่อน ๆ และน้อง ๆ ทั้งหลาย อาจจะสร้างผลงานที่ดีเด่นจนกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่โด่งดังระดับโลกเลยก็ได้ค่ะ
ความใฝ่ฝันอยากจะประสบความสำเร็จในด้านนี้เหมือนกัน เพราะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่นำความเจริญก้าวหน้ามาสู่โลกอย่างมหาศาล ถึงการแข่งขันตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ครั้งนี้ ได้รับแค่รางวัลชมเชย แต่ก็ได้รับกำลังใจจากคนรอบข้างในการผลักดันตัวเองไปสู่การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคตข้างหน้าค่ะ
ในอนาคตนั้น มีความคาดหวังว่าจะมีอาชีพเป็นแพทย์มาตั้งแต่ยังเด็ก เนื่องจากอาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่ได้ช่วยคน เป็นกุศลอีกอย่างหนึ่ง ที่สำคัญคือได้รักษาคนที่ป่วยให้มีอาการดีเป็นปกติ ซึ่งเป็นการต่ออายุผู้คนเพื่อที่จะได้ให้เขาสั่งสมบุญกุศลต่อไปให้มากขึ้นด้วยค่ะ
อยากให้รัฐบาลส่งเสริมการเรียนหรือการทำวิจัยวิทยาศาสตร์โดยการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีความทันสมัยเทียมเท่ากับต่างประเทศโดยระบบการเรียนรู้แบบออนไลน์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และให้พยายามปลูกฝังเยาวชนไทยให้สนใจในวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศได้รับการพัฒนาจนมีความเจริญเทียบเท่าหรือมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วก็เป็นได้ค่ะ
สำหรับเพื่อน ๆ หรือน้อง ๆ ที่สนใจคิดทำโครงงานวิทยาศาสตร์นั้น เป็นการดีเนื่องจากการทำโครงงานวิทยาศาสตร์นั้นเป็นการฝึกความคิดสร้างสรรค์และอาจทำให้เพื่อน ๆ ได้มีโอกาสเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีในอนาคต หรืออาจได้รับรางวัลโนเบลเลยก็ได้ ซึ่งในประเทศไทยก็ยังไม่เคยมีใครได้รับรางวัลโนเบลอันทรงเกียรตินี้เลย
งานประชุมวิชาการ วทท. ที่จัดขึ้นทุกปีนั้น มีผลต่อการกระตุ้นความสนใจของเด็กไทยบ้าง แต่ไม่มากนักเนื่องจากเป็นความรู้เกินที่เด็กไทยระดับประถมทั่ว ๆ ไปจะเข้าใจได้ แต่ถ้าใครที่สนใจจริง ๆ ก็อาจจะค้นคว้าเพิ่มเติมในเรื่องนี้ก็ได้ แต่สำหรับโครงงานวิทยาศาสตร์ที่วางแสดงตามบูธนั้น ก็มีผู้คนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กนักเรียน ซึ่งโครงงานวิทยาศาสตร์เหล่านี้ทำให้เด็กไทยได้รับความรู้และกระตุ้นความสนใจในเรื่องวิทยาศาสตร์นั้นไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ดีควรจะมีการประชุมวิชาการเกิดขึ้นทุกปี เพื่อให้เด็กไทยทั่ว ๆ ไป ได้เรียนรู้ และมีความสามารถทางวิทยาศาสตร์ในอนาคตก็ดีค่ะ
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--
- พ.ย. ๐๔๘๒ ภาพข่าว: รณรงค์สวมหมวกนิรภัย
- พ.ย. ๒๕๖๗ สจล. เผย 3 สุดยอดนวัตกรรมสร้างสรรค์ ฝีมือเด็กไทยหัวใจเกษตร ชนะเลิศโครงการ “KMITL INNOVATIVE AWARDS 2015”
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: ปตท. มอบรางวัลโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์ ปตท. ประจำปี 2557 (PTT YOUTH CAMP2014) ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี