วันนี้ (20 มี.ค.) นายวิรัช กาญจนพิบูลย์ รองผู้ว่าการกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำปี 2552 ว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา พบว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. รวมทั้งสิ้นประมาณ 44,076 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 71 ของความจุอ่างทั้งหมด น้อยกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วประมาณร้อยละ 3.4 หรือ 2,125 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งหากมองในภาพรวมทั้งประเทศจะเห็นว่า ปริมาณน้ำในปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้วเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และยังมีระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ อย่างไรก็ตามเขื่อนในภาคเหนือ (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล) มีน้ำรวมกัน 14,079 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 60.6 ของความจุอ่าง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งมีระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ต่ำ โดยปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลอยู่ที่ร้อยละ 55.4 ของความจุ ส่วนเขื่อนสิริกิติ์อยู่ที่ ร้อยละ 67 ของความจุ
โฆษก กฟผ. กล่าวต่อไปว่า ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ มีระดับอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยภาคกลาง-ตะวันตก (เขื่อน ศรีนครินทร์ เขื่อนท่าทุ่งนา เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนคิรีธาร) มีน้ำรวมกัน 21,521 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 79 ของความจุอ่าง โดยอ่างเก็บน้ำของทุกเขื่อนมีระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนน้ำพุง เขื่อนห้วยกุ่ม และเขื่อนปากมูล) มีน้ำรวมกันประมาณ 2,842 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 62 ของความจุอ่าง มีเพียงอ่างเก็บน้ำของเขื่อนสิรินธร ที่มีระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ นอกนั้นอยู่ในเกณฑ์ปกติค่อนข้างสูง ส่วนภาคใต้ (เขื่อนรัชชประภา และเขื่อนบางลาง) มีน้ำรวมกัน 5,635 ล้าน ลบ.ม. หรือ ร้อยละ 79 ของความจุอ่าง โดยอ่างเก็บน้ำของทุกเขื่อนมีระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ
นายวิรัช กล่าวด้วยว่า แม้ปีนี้จะปีปริมาณน้ำโดยรวมลดลงจากปีที่แล้ว เนื่องจากปีที่แล้วมีการระบายน้ำมากตามความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ในปีนี้ความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรน่าจะไม่มากเท่าปีที่แล้ว สังเกตได้จากความต้องการใช้น้ำตามโครงการเจ้าพระยาใหญ่ของปีนี้อยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปีที่ 2551 มีการระบายกว่า 10,000 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นคาดว่าในปี 2552 จะสามารถระบายน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของ ภาคเกษตรกรรมได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม กฟผ. ขอให้ประชาชนรวมถึงเกษตรกรใช้น้ำด้วยความประหยัด เพราะหากใช้น้ำมากเกินไป ในขณะที่ฤดูฝนล่าช้าออกไป หรือภาวะแห้งแล้งยาวนานกว่าปกติ จะส่งผลกระทบต่อการจัดสรรน้ำในปี 2553