แม้ว่าตัวเลขผลประกอบการซึ่งโดยปกติมีมูลค่ากว่า 2-3 แสนล้านบาทต่อปี จะลดลงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ คือในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาลดลงถึงร้อยละ 50 จากที่คาดการณ์ไว้แค่ร้อยละ 30 แต่นโยบายเรื่องการปลดคนงานยังไม่ใช่ทางเลือกแรก เพราะแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือที่มีความชำนาญเฉพาะทาง จนถึงขณะนี้มีการปลดคนงานไม่เกินร้อยละ 20 ของแรงงานทั้งหมดของสมาชิกสมาพันธ์ที่มีกว่า 200,000 คน แต่หากวิกฤตยังไม่คลี่คลาย และรัฐบาลยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่ถูกต้องและชัดเจน คาดว่าช่วงกลางปี 2552 นี้จะมีการปลดคนงานเพิ่มอีกระลอกใหญ่
ขณะนี้สิ่งที่สมาพันธ์ฯ กำลังพยายามดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อนำพาผู้ประกอบการฝ่าวิกฤต คือ การให้แนวทางการปรับตัว กระตุ้นการเปิดตลาดใหม่ ๆ และมองหาความสามารถของเครื่องจักรและแรงงานที่มีอยู่ ในการแตกไลน์การผลิตสินค้า ในขณะเดียวกันสมาพันธ์ฯ ได้มีการหารือถึงมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่เข้าถึงและตรงจุด โดยที่ชัดเจนในขณะนี้ คือการนำผู้ประกอบการออกไปแสดงตัวในตลาดต่างประเทศ ประกาศศักยภาพของผู้ผลิตไทย เพื่อเข้าถึงและครอบคลุมตลาดใหม่ ๆ เพิ่มเติม นอกจากนี้ภายในเดือนมีนาคมนี้ สมาพันธ์กำลังจะจัดระดมสมองครั้งใหญ่สรุปสถานการณ์ ปัญหา แนวทางและมาตรการที่ต้องการ เพื่อนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณา
“เรายังเชื่อว่าทุกวิกฤตมีโอกาส แต่ต้องมีแนวทางและมาตรการรับมือที่ถูกต้องและชัดเจน มาตรการระยะกลางภายใน 5-6 เดือนนี้ เรามองว่ารัฐน่าจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ โดยการออกงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นช่องทางที่สำคัญและเข้าถึงตลาดได้เร็วที่สุด ปีนี้สมาพันธ์ฯ จึงได้สนับสนุนการจัดงานออโตโมทีฟ แมนูแฟคเจอริ่ง 2009 งานเพื่ออุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ซึ่งจัดพร้อมกัน 5 งานใหญ่ครอบคลุมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์และการขึ้นรูป พลาสติกและยาง ชิ้นส่วนยานยนต์ ระบบอัตโนมัติ และอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างวันที่ 25 — 28 มิถุนายน 2552 ที่ไบเทค บางนา เราเชื่อว่านี่จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยผู้ประกอบการได้มาก” นายประเสริฐกล่าว