เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ที่โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต ได้มีพิธีส่งมอบโครงการสนับสนุนด้านสังคม
ส่วนขยายเวลาเพื่อช่วยเหลือชุมชนที่ประสบธรณีพิบัติภัย ระหว่างผู้แทนสหภาพยุโรปกับผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
หลังเสร็จพิธี นายซามูเอล แคนเทล รองหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ สำนักงานคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทยเปิดเผยว่า โครงการสนับสนุนด้านสังคม ส่วนขยายเวลาเพื่อช่วยเหลือชุมชนผู้ประสบธรณีพิบัติภัยดังกล่าว เป็นโครงการที่สหภาพยุโรป (อียู) ได้ตกลงให้รัฐบาลไทยนำเงินให้เปล่าจำนวน 3.53 ล้านยูโร หรือประมาณ 162 ล้านบาท ที่เหลือจากโครงการสนับสนุนด้านสังคมที่ได้ดำเนินการมาแล้วในช่วงปี 2544 — 2548 มาใช้ในการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิใน 6 จังหวัดภาคใต้แถบอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล ระยะเวลาดำเนินการระหว่างสิงหาคม 2548 — ธันวาคม 2551 โดย ธ.ก.ส. เป็นผู้บริหารโครงการและทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาภาคเอกชนที่ได้รับคัดเลือกเข้ามาจำนวน 4 องค์กร คือ มูลนิธิฮิลฟ์สเวอร์ค ออสเตรีย มูลนิธิรักษ์ไทย สถาบันคีนันแห่งเอเชีย และสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน
ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า นับเป็นโอกาสที่ดีที่อียูได้ให้ความไว้วางใจ มอบภารกิจอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้กับ ธ.ก.ส. ร่วมกับ องค์กรพัฒนาเอกชนทั้ง 4 ราย เพราะโดยภารกิจของ ธ.ก.ส. แล้ว ธ.ก.ส.สามารถเข้าไปเติมเต็มหรือต่อยอดในเชิงบูรณาการโครงการต่างๆ ที่สำนักงานหรือชุมชนได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ สำหรับการดำเนินการ ธ.ก.ส. จะได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการกำกับติดตาม ทำให้เห็นขั้นตอนและระดับของการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการช่วยเหลืออย่างมีส่วนร่วม มีการวางแผนร่วมกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งในระดับครัวเรือนและชุมชน มีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง รวมทั้งการสร้างเงินออมซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติหรือภัยเศรษฐกิจในวันหน้า
นายลักษณ์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การดำเนินงานตามโครงการได้ก่อประโยชน์ให้แก่สมาชิกกว่า 20,000 คน ใน 584 ชุมชน ช่วยให้เกิดการจัดตั้งกลุ่มอาชีพและการดำเนินธุรกิจที่มีกลุ่มเป็นเจ้าของ ช่วยสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชุมชน มีรายได้เพิ่มจากสินค้าและบริการของกลุ่มซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก สมาชิกมีความรู้ในการออมเพื่อเป็นหลักประกันในชีวิตทำให้มีเงินออมเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้น ยังช่วยลดการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่เมืองอีกด้วย และที่สำคัญ วันนี้ กลุ่มสตรีมุสลิมมีบทบาทในการประกอบอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้หัวหน้าครอบครัวหลังจากการขาดรายได้จากอาชีพประมง ซึ่งบทบาทเหล่านี้ได้สร้างความภาคภูมิใจและความเชื่อมั่นให้แก่สตรีมุสลิมเป็นอย่างยิ่ง
นายแคนเทลกล่าวต่อว่า คณะกรรมาธิการยุโรปมีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมงานกับ ธ.ก.ส. ในการพัฒนาชนบท สำหรับ ในปี 2552 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 30 ปีของความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย แม้ว่าความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาชนบทจะสิ้นสุดลงพร้อมกับโครงการสนับสนุนด้านสังคมเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่สหภาพยุโรปจะยังคงทำงานร่วมกับประเทศไทยต่อไปในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น สิ่งแวดล้อม พลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การขนส่งทางอากาศ และสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา