ทั้งนี้ น.ส.กรวิกา ก้อนแก้ว หัวหน้าโครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนจิตอาสาในสถานศึกษา มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนจิตอาสาในสถานศึกษาระยะที่ 1 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล มาตลอดระยะเวลา 3 เดือนพบว่า กิจกรรมในโครงการได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงพฤติกรรม ค่านิยม และทัศนคติของเยาวชนในสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการอย่างมาก เด็กบางคนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านทัศนคติและค่านิยม ทุกๆ คนได้ข้อคิด และได้พัฒนาทักษะการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งทางมูลนิธิฯ เล็งเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา อาจารย์ นักเรียน รวมทั้งผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องการกับพัฒนาเยาวชนจิตอาสาให้วงกว้าง จึงได้จัดเวทีดังกล่าวขึ้น
ทั้งนี้ในเวทีเรื่องเล่าเร้าพลัง “พลังเยาวชนจิตอาสา จากรั้วโรงเรียน สู่โรงพยาบาล” ได้มีนักเรียนแกนนำจิตอาสาซึ่งเป็นตัวแทนจาก 4 โรงเรียนนำร่อง มาเล่าถึงความประทับใจและความเปลี่ยนแปลงหลังจากเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาล โดย ด.ญ.ปนัสยา สมนวรางกูร หรือ “ชฎา” นักเรียนชั้นม.3 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) ระบุว่า การทำงานจิตอาสาไม่ใช่เรื่องยาก ไม่เหนื่อย แต่เป็นเรื่องใหม่ที่ทำแล้วได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อีกทั้งได้ความอิ่มเอมใจกลับมา อยากให้เพื่อนๆ ที่ไม่เคยทำกิจกรรมจิตอาสามาลองทำดู เพราะคนที่ไม่เคยทำจะไม่ทราบแน่นอนว่าทำแล้วมันมีความสุขอย่างไร
“ชฏา” กล่าวอีกว่า อย่างเพื่อนคนหนึ่งเขาค่อนข้างอารมณ์ร้อน ชอบโวยวาย เกเร เขามีโอกาสไปดูแลน้องๆ ที่ป่วยอายุ 5-6 ขวบ ตอนแรกเขาก็โวยวายเพราะไม่เคยและไม่ชอบดูแลเด็กเล็ก แต่หลังจากเขาได้ไปจริงๆ ได้ไปเห็นภาพน้องๆ ที่นอนป่วยก็เกิดความสงสาร บางคนต้องดามกระดูกไว้ทั้งตัวเหลือเพียงส่วนหัว บางคนอยู่โรงพยาบาลมาเป็นปีๆ ภาพแบบนี้มันทำให้เพื่อนขี้โวยวายคนนี้เปลี่ยนไปเป็นคนละคน กลายเป็นคนกระตือรือร้นอยากไปทำกิจกรรมอีก จึงนำเรื่องนี้ไปเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง ท่านก็สนับสนุนเต็มที่และรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่จะดีใจกับสิ่งที่เราทำด้วย
น.ส.ชนกนันท์ แสงระวี หรือ “เตย” นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองหลังได้ทำกิจกรรมจิตอาสาว่า เมื่อก่อนเราอยู่บ้านอยากได้อะไรพ่อแม่ก็หาให้ จะไปไหนมาไหนพ่อแม่ก็พาไป แต่เราอยากเติมในสิ่งที่ขาดให้กับคนอื่นๆ บ้าง อยากที่จะเป็นฝ่ายให้คนอื่นบ้าง ยิ่งพอไปทำกิจกรรมกับน้องๆ ที่โรงพยาบาลเด็กได้ทำให้น้องที่เขานอนป่วยมานานได้ยิ้มออก ได้มีความสุขเราเองก็มีความสุขไปด้วย ประทับใจและซึ้งใจตอนที่สอนน้องๆ เขาทำการ์ดวันแม่น้องบางคนนอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาลเป็นปีไม่ได้เจอพ่อแม่เพราะอยู่ต่างจังหวัด พอเห็นเขาตั้งใจเขียนการ์ดให้แม่ก็ซึ่งใจสุดๆ
“ช่วงเวลาแค่ 3 ชั่วโมงที่เราไปทำความดีรู้สึกว่าชีวิตมันมีค่ามากกว่าที่นอนอยู่เฉยๆ หรือเที่ยวเล่นกับเพื่อนไปวันๆ สิ่งที่ได้รับจากการทำกิจกรรมจิตอาสาทำให้เราเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น เมื่อก่อนจะเป็นคนงี่เง่าอะไรที่ไม่ถูกใจจะควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่อยู่ แต่ตอนนี้ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ และไม่เอาแต่ใจตัวเอง ไม่มาโรงเรียนสายเหมือนเมื่อก่อน หลังจากจบโครงการฯ ยังได้คุยกับเพื่อนๆว่าจะไปทำกิจกรรมที่โรงพยาบาลกันอีกเพราะรู้สึกคิดถึงรอยยิ้มของน้องๆ ที่นั่น” น้องชฏา กล่าว
ด้านอาจารย์จรรยา ธนะนิมิต หัวหน้าระดับชั้น ม.5 โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย กล่าวว่า การทำกิจกรรมจิตอาสาในโรงพยาบาลนับเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนสนับสนุนให้นักเรียนทำกิจกรรมอาสาภายนอกรั้วโรงเรียน ที่น่าภาคภูมิใจคือ ในการทำกิจกรรม เด็กนักเรียนรวมกลุ่มดูแลจัดการกันเอง คุณครูไม่ต้องคอยผลักดันมากเพียงแต่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้ดูแลเรื่องความสะดวกและความปลอดภัยของนักเรียน และจากการสังเกตพบว่านักเรียนส่วนใหญ่จะเกิดความปิติกลับมา อีกทั้งยังชวนเพื่อนคนอื่นๆ หาโอกาสไปทำกิจกรรมกันอีก เด็กบางคนปกติอาจจะเกเรบ้าง เมื่อไปทำกิจกรรม กลับก็หันมาตั้งใจเรียน แต่งตัวเรียบร้อย เชื่อฟังครู เพราะเขาคิดว่าการเป็นเยาวชนจิตอาสาก็หมายความว่าเขาต้องเป็นคนดี เขาเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ปัจจุบันโรงเรียนมีแนวคิดที่จะขยายผลกิจกรรมจิตอาสาไปยังนักเรียนชั้น ม.4 และผลักดันให้เกิดครอบครัวจิตอาสาให้พ่อแม่ลูกมาทำกิจกรรมด้านนี้ด้วยกัน
พันตรีหญิงจันทนี ภูยานนท์ ผู้แทนจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานของเยาวชนจิตอาสา กล่าวว่า จากการเฝ้าสังเกตเยาวชนที่เข้ามาทำกิจกรรมในโรงพยาบาลพบว่า ช่วงแรกเด็กบางคนไม่สามารถแสดงศักยภาพที่แท้จริงของเขาได้เนื่องจากความไม่คุ้นเคยกับสถานที่ แต่เมื่อผ่านไปสัก 2-3 ครั้งเขาจะเริ่มชินกับคนไข้ เริ่มคุ้นเคยพูดคุยกันด้วยความสนิทสนมมากขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้น ทำหน้าที่เป็นนักสันทนาการที่ดี สามารถผ่อนคลายความเครียดของผู้ป่วยลงได้
ทั้งนี้กลุ่มผู้ป่วยที่เด็กนักเรียนจะต้องดูแลคือกลุ่มผู้ป่วยทหารที่ได้รับบาดเจ็บและพิการจากการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ป่วยเหล่านี้จะได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกาย จิตใจและสถานะเศรษฐกิจของครอบครัว ซึ่งอาจจะมีความเครียดมาก เมื่อเด็กๆ เข้ามาทำกิจกรรมชวนพูดชวนคุย ทำกิจกรรมสันทนาการร่วมกันทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้คลายความเครียดลง มีความสุขมากขึ้น ผู้ป่วยบางคนจะบอกเสมอว่าหากมีใครสักคนเข้าเยี่ยมมาพูดคุยกับเขาก็ทำให้เขารู้สึกดีมากแล้ว บางคนก็คาดหวัง และเฝ้ารออยากให้ถึงวันที่น้องๆ มาทำกิจกรรม
“อยากให้โครงการดีๆ อย่างนี้ดำเนินต่อไป ซึ่งทางโรงพยาบาลมีแนวคิดที่จะให้การเรียนรู้และกิจกรรมเกิดความต่อเนื่องโดยเติมความรู้เรื่องสุขอนามัยให้เด็กกลับไปดูแลตัวเองและคนใกล้ชิด ซึ่งอาจจะทำให้เด็กๆ มีความภาคภูมิใจมากขึ้น เด็กบางคนเมื่อมาทำกิจกรรมอาสาแล้วก็ย้อนกลับมามองตัวเองและคนใกล้ตัวบางคนอยากจะกลับไปดูแลญาติพี่น้องที่ป่วย นี่คือสิ่งมุ่งหวังที่ค่อนข้างเกินความคาดหมาย ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งหมายของระบบสาธารณะสุขที่ต้องการให้ชุมชนและประชาชนดูแลกันเองได้ ฉะนั้นสังคมจะต้องช่วยกันปลูกฝังจิตสำนึก และสร้างต้นแบบให้กับเยาวชนก่อน การที่เราสร้างต้นแบบที่ดีให้กับเขาก็จะเป็นการช่วยกันสร้างอนาคตของประเทศเราได้อีกทางหนึ่ง “พันตรีหญิงจันทนี” กล่าว
นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า มูลนิธิสยามกัมมาจลตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพเยาวชน ให้เป็น คนเก่ง คนดี และมีความสุข เพราะเยาวชนคืออนาคตของชาติ อีกทั้งเป็นวัยที่มีพลัง มีศักยภาพ สำหรับการสนับสนุนโครงการโครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนจิตอาสาในสถานศึกษานั้น มูลนิธิต้องการสร้างโอกาส และพื้นที่ ให้เยาวชนโดยเฉพาะเยาวชนในเขตเมืองซึ่งค่อนข้างขาดโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของชุมชน ทำให้มีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมและการเรียนรู้ด้านสังคมโดยเฉพาะเรื่องจิตอาสา ในขณะเดียวกันโรงพยาบาลเองก็มีความต้องการอาสาสมัครเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระในการดูแลผู้ป่วยที่มีอยู่เป็นจำนวนมากให้มีความสุข ซึ่งการดำเนินโครงการระยะต่อไป มูลนิธิสยามกัมมาจล จะมุ่งเน้นสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาล โรงเรียนนำร่อง ผู้ปกครองของเยาวชน รวมทั้งองค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบของเครือข่ายการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้เข้มแข็ง และเป็นต้นแบบที่จะขยายผลด้านจิตอาสาให้เกิดขึ้นในโรงเรียนต่อไป
“ผลสำเร็จของโครงการที่เป็นรูปธรรมที่ชัดที่สุด คือ สิ่งที่เยาวชนได้เรียนรู้ชีวิตนอกห้องเรียน รู้จักการให้ และการแบ่งปัน ซึ่งจะนำไปสู่การสัมผัสว่าความสุขจากการให้นั้นเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความคิด ต่อพฤติกรรมที่โน้มนำพวกเขาไปใช้พลังของวัยรุ่นในเชิงบวก สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่เพียงจะเป็นประโยชน์ต่อตัวของเขาเอง หากแต่มีประโยชน์ต่อครอบครัว ต่อโรงเรียน และสังคมด้วย แต่ประเด็นที่สำคัญก็ คือ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ยากถ้าขาดผู้ใหญ่คอยสนับสนุน และให้โอกาส ซึ่งดิฉันคิดว่า ผู้ปกครอง และคุณครู ผู้บริหารสถานศึกษา จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง” ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจลกล่าวในตอนท้าย
สอบถามเพิ่มเติมโทร.02-2701350-4