นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ในฐานะ ผู้ก่อตั้งชมรมนมสร้างชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ จากสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาร่วมกันก่อตั้ง “ชมรมนมสร้างชาติ” ขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อพัฒนากิจการ โคนมไทยให้เติบโตเข้มแข็ง เป็นรากฐานการสร้างชาติ เนื่องจากสถานการณ์การเลี้ยงโคนมไทยกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต ดังจะเห็นได้จากการเกิดปัญหาน้ำนมล้นตลาด คุณภาพนมโรงเรียนไม่ได้มาตรฐาน นมผงที่ราคาถูกกำลังทะลักเข้าสู่ประเทศไทย
โดยเบื้องต้นทางชมรมฯได้เริ่มสำรวจข้อมูลประชากรวัวที่แท้จริง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนากิจการโคนมคือบริหารจัดการปริมาณน้ำนมดิบในประเทศ เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างปริมาณการผลิตและความต้องการใช้น้ำนมดิบ โดยให้เด็กอาชีวะที่อยู่ในพื้นที่ทำการศึกษา ประมาณ 150 คน ร่วมกับอาจารย์ เก็บข้อมูลจากเกษตรกรโดยตรง และขอจำนวนวัวที่เลี้ยงจากภาคเอกชนโดยตรง จากจำนวนฟาร์มใน 12 จังหวัดที่เลี้ยงโคนมหนาแน่น อาทิ สระบุรี ราชบุรี เป็นต้น
“ขณะเดียวกันชมรมนมสร้างชาติยังได้จัดทำข้อเสนอเพื่อการพัฒนากิจการโคนมไทย ให้เติบโตเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยปัจจัยสำคัญที่เห็นควรเร่งดำเนินการแก้ไข คือ การทบทวนแก้ไข พ.ร.บ. นมและผลิตภัณฑ์นม ที่นับเป็น “เสาหลัก”ในการพัฒนากิจการโคนม เป็นสิ่งกำหนดความอยู่รอดและความล่มสลายของเกษตรกรโคนม กฎหมายดังกล่าวนี้เป็นกลไกหลักที่จะก่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาและรักษาประโยชน์และให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนมทั้งระบบ” นายวีระศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ชมรมนมสร้างชาติยังเห็นควรให้มีการกำหนดบทบาทองค์กร และกลุ่มเกษตรกรที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการโคนมให้ชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความเป็นเอกภาพให้กับองค์กรนั้นๆ ดังนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ควรรวมศูนย์นมสหกรณ์ให้เป็นไปตามพ.ร.บ.สหกรณ์ ซึ่งกำหนดให้มีชุมนุมสหกรณ์เพียงแห่งเดียว ในประเทศไทย กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงควรดำเนินการให้มีการรวมชมรมสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมแห่งประเทศไทยให้มาอยู่ในชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย
องค์การส่งเสริมกิจการโคนม (อ.ส.ค) ต้องเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร และมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการพัฒนาโคนมทั้งระบบ พร้อมทั้งควรกลับไปใช้ชื่อเดิม คือ “องค์การส่งเสริมโคนมแห่งประเทศไทย” เพื่อหลีกเลี่ยงบทบาทในการดำเนินธุรกิจที่แข่งขันกับกลุ่มสหกรณ์ และเอกชน
กรมปศุสัตว์ ควรดำเนินบทบาทหลักในการเร่งรัดการพัฒนาสายพันธุ์โคนมที่มีคุณภาพ รวมทั้งจัดระบบการดูแลสุขภาพโคนมอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการบริหารจัดการโครงการนมโรงเรียนนั้น นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ชมรมนมสร้างชาติมีข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงดังนี้ 1) ควรให้ อ.ส.ค.และผู้ประกอบการแปรรูปนมพาสเจอร์ไรส์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิ์จำหน่ายในตลาดนมโรงเรียน 2)ไม่ควรให้ผู้ประกอบการแปรรูปนมรายใหญ่ (ผลิตนม UHT) มาเกี่ยวข้องกับตลาดนี้ แต่ควรไปแข่งขันในตลาดพาณิชย์ตามระดับการลงทุนและศักยภาพที่มีสูง 3) การบริหารความต้องการใช้นมดิบ ควรมาจากข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน และสะท้อนสภาพนมในตลาด
4) กำหนดให้มีคณะกรรมการระดับจังหวัด ดูแลมาตรฐานโรงงานแปรรูปขนาดเล็ก ตั้งแต่กระบวนการผลิต จนถึงการจัดจำหน่าย โดยมีเครื่องมือและอุปกรณ์ในการผลิตที่มีมาตรฐาน และเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพ 5)พัฒนาโรงนมขนาดเล็ก (พาสเจอร์ไรส์) ให้ได้มาตรฐาน โดยให้โรงนมขนาดใหญ่มีส่วนร่วมในการพัฒนา หากโรงงานนมขนาดเล็กไม่สามารถพัฒนาให้มีมาตรฐานตามกำหนดเวลา ควรมีบทลงโทษให้เลิกกิจการ 6) ควรจัดกลุ่มพื้นที่ (Zoning) ในการจัดส่งน้ำนมดิบ และการจำหน่าย เพื่อให้เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เพื่อการลดต้นทุน และควบคุมคุณภาพ
และ 7) สร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวัง ให้ความรู้ และตรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียน เช่น สถาบันการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ และกลุ่มผู้ปกครอง
“การรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากอัตราการบริโภคนมของคนไทยยังต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นคือเฉลี่ยคนละ 13.36 กิโลกรัมต่อปี ขณะที่สหรัฐอเมริกามีอัตราการบริโภคเฉลี่ยประมาณ 250 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และในอาเชียนมีอัตราการบริโภคเฉลี่ยประมาณ 40 กิโลกรัมต่อคนต่อปี การรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนเพื่อให้หันมาบริโภคนมเพิ่มมากขึ้นในทุกเพศทุกวัยจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” นายวีระศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ชมรมนมสร้างชาติได้จัดทำเว็บไซต์ www.milkforthai.org ขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้ข้อมูล ข่าวสารในอุตสาหกรรมนมไทย และเป็นเวทีกลางในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้รู้และมีประสบการณ์ รวมถึงรับสมัครสมาชิกชมรมฯ เพื่อรวมพลังพัฒนากิจการโคนมไทย
ขอขอบคุณในการเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อบริษัท คิธ แอนด์ คิน ฯ จำกัด
คุณปาณิสรา โทร.02 663 3226 ต่อ 62
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 663 3226 ต่อ 62 คุณปาณิสรา