นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ดร.ประกอบ จิรกิติ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงเปิดตัว โครงการส่งเสริมการใช้ถังหมัก ก๊าซชีวภาพในโรงเรียน กทม. ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี (พ.ศ.2551-2565) ซึ่งกำหนดให้มีการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของการใช้พลังงาน ขั้นสุดท้ายภายในปี 2565 สามารถทดแทนได้ประมาณ 20 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ทดแทนการนำเข้าน้ำมัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 461,000บาท ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ประมาณปีละ 42 ล้านตัน ก่อให้เกิดการลงทุนในภาครัฐและเอกชนประมาณ 400,000 ล้านบาท และได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับแผนดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 ซึ่งตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี ได้กำหนดเป้าหมายส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนจากขยะที่กำหนดให้มีการผลิตไฟฟ้ารวม160 เมกะวัตต์ และความร้อนรวม 35 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) ซึ่งการแปรขยะเป็นพลังงานนั้น นอกจากจะเป็นการใช้ประโยชน์จากขยะเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนแล้ว ยังเป็นการลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมเนื่องจากการจัดการขยะที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนลดการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาโลกร้อนอีกด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะมูลฝอยชุมชนเกิดขึ้นประมาณวันละ 40,000 ตัน และใน กทม. มีขยะประมาณวันละ 8,700 ตัน กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จึงได้มีการส่งเสริมการผลิตพลังงานจากขยะชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2551-2554 ได้ดำเนินการในเทศบาลหรือชุมชนที่มีปริมาณขยะตั้งแต่ 100 ตัน/วัน ลงมา รวม จำนวน 1,537 แห่ง สามารถลดขยะได้ 340,000 ตัน/ปี เกิดก๊าซชีวภาพ 17 ล้านลบ.ม./ปี คิดเป็นเงิน 143 ล้านบาท/ปี สำหรับโครงการติดตั้งถังหมักก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์สำเร็จรูปขนาดเล็ก พพ. ได้ติดตั้งให้กับสถานศึกษา โรงพยาบาล ชุมชน ค่ายทหารและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาตั้งแต่ปี 2549-2551 รวม 500 แห่ง และจะมีการขยายโครงการต่อไปจนถึงปี 2554 รวมทั้งสิ้น 1,700 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะสามารถช่วยลดการกำจัดขยะได้ปีละ 25,000 ตัน ผลิตเป็นก๊าซชีวภาพได้ 1.5 ล้าน ลบ.ม./ปี ใช้แทน LPG ได้ 7 แสนตัน/ปี คิดเป็นมูลค่า 12.8 ล้านบาท/ปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 13,300 ตัน/ปี
ดร.พานิช พงศ์พิโรดม อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา พพ. ได้ดำเนินการติดตั้งถังหมักก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ ในโรงเรียนสังกัด กทม.แล้ว จำนวน 40 แห่ง ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านการกำจัดเศษขยะอินทรีย์ในโรงเรียน การนำพลังงานก๊าซชีวภาพไปใช้ประโยชน์ และยังเป็นการถ่ายทอดความรู้เรื่องการผลิตพลังงานจากขยะและปลูกจิตสำนึกในการคัดแยกขยะให้กับนักเรียน เนื่องจากมีโรงเรียนในสังกัด กทม. อีกจำนวนมากที่มีศักยภาพที่จะนำเศษอาหารที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมาใช้ผลิตก๊าซชีวภาพ ดังนั้น พพ. และกทม. จึงได้จับมือกันส่งเสริมการใช้ถังหมักก๊าซชีวภาพ เพิ่มขึ้นอีก 40 แห่ง โดย พพ. ดำเนินการคัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อมและเหมาะสมเข้าร่วมโครงการ หลังจากนั้นจะให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการและจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อส่งเสริมนักเรียนและครูให้มีความรู้ความเข้าใจและสร้างจิตสำนึกให้เห็นประโยชน์ของการนำขยะมาผลิตพลังงาน ส่วน กทม. ดำเนินการจัดสรรงบประมาณเพื่อว่าจ้างผลิตและติดตั้งถังหมักก๊าซชีวภาพ จำนวน 40 ชุด ขนาด 2.5 ลบ.ม.รับขยะอินทรีย์ได้ 40 กก./วัน และผลิตก๊าซชีวภาพได้ 2.5 ลบ.ม./วัน รวมทดแทน LPG ได้ประมาณ 40 กก./วัน หรือ 14,600 กก./ปี