1. การประชุม AFDM+3 ในครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Ministers’ Meeting: AFMM+3) ซึ่งการประชุม AFMM+3 ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2552 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยในการประชุมครั้งนี้มีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ทั้ง 13 ประเทศ พร้อมทั้งผู้แทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียนและธนาคารพัฒนาเอเซียเข้าร่วมการประชุม
2. ที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นหลัก ดังต่อไปนี้
2.1 การพิจารณาความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการริเริ่มการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) ซึ่งมีความคืบหน้าของการดำเนินงานใน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ การจัดตั้งกลไกการค้ำประกันเครดิตของภูมิภาค (Credit Guarantee and Investment Mechanism: CGIM) และการออกพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาค (Bonds Financing for Infrastructure Projects) ในลักษณะ Cross-Boarder
2.1.1 การจัดตั้ง CGIM นั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการผลักดันให้มีการจัดตั้ง CGIM เพื่อเป็นกลไกในระดับภูมิภาคที่ทำหน้าที่ค้ำประกันพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของภาคเอกชนของประเทศสมาชิก โดยจะจัดตั้งในลักษณะกองทุนที่อยู่ภายใต้ธนาคารพัฒนาเอเชีย ซึ่งจะทำให้การค้ำประกันของ CGIM ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ AAA เช่นเดียวกับธนาคารพัฒนาเอเชีย โดย AFDM+3 จะนำข้อเสนอดังกล่าว เสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 ในเดือนพฤษภาคม 2552 สำหรับสัดส่วนการลงเงินของแต่ละประเทศและกรอบการดำเนินงานของกลไก CGIM นั้น จะมีการหารือในรายละเอียดต่อไป
2.1.2 การออกพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาค (Bonds Financing for Infrastructure Projects) นั้น ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการผลักดันโครงการนี้ โดยโครงการที่กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ได้แก่ การออกพันธบัตรสกุลเงินบาทของรัฐบาล สปป.ลาว โดยมีเป้าหมายในการขายให้แก่นักลงทุนสถาบันของไทย แต่ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่จำเป็นต้องพิจารณาอีกระยะหนึ่งจึงจะสามารถออกพันธบัตรดังกล่าวได้
โครงการทั้งสองโครงการดังกล่าว จะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาตลาดพันธบัตรในภูมิภาค โดยเป็นการเพิ่มอุปทานในตลาดพันธบัตรและเพิ่มทางเลือกในการออมและการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนของภูมิภาค
2.2 การพิจารณาความคืบหน้าของการพัฒนามาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (CMI Multilateralisation: CMIM) นั้น ที่ประชุมสามารถตกลงในประเด็นหลักในการจัดตั้งกองทุน CMIM ได้ในหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสัดส่วนการลงเงินของประเทศอาเซียนและกลไกการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นปลีกย่อยอีกจำนวนหนึ่งที่ยังต้องมีการหารือกันระหว่างประเทศสมาชิกก่อนนำเสนอกรอบดังกล่าวสู่การพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 ในเดือนพฤษภาคม 2552
3. การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 ครั้งที่ 12 จะมีขึ้น ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2552 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทย (นายกรณ์ จาติกวณิช) จะเป็นประธานร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐเกาหลี
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3600-2