กรุงเทพ-ไทยพาณิชย์ Bank of the Year 2009

พุธ ๐๘ เมษายน ๒๐๐๙ ๑๐:๔๙
ผลการจัดอันดับธนาคารแห่งปี 2552 ธนาคารกรุงเทพ & ธนาคารไทยพาณิชย์ ควงคู่ครองแชมป์ ธนาคารแห่งปี 2552 ด้วยผลงานโดดเด่นชนิดเฉือนกันไม่ลง ทั้งรายได้และกำไรสุทธิ ตามด้วยแบงก์เล็กพริกขี้หนู ธนาคารเกียรตินาคิน นั่งแท่นที่ 3 ด้านธนาคารกสิกรไทยคว้าแชมป์พีอาร์แบงก์ขวัญใจสื่อมวลชน

วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนเมษายน 2552 ที่กำลังวางแผงในขณะนี้ ประกาศผลการจัดอันดับธนาคารแห่งปี ประจำปี 2552 หรือ Bank of The Year 2009 ปรากฏว่าธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ครองตำแหน่งธนาคารแห่งปี 2552 ร่วมกัน โดยมีผลประกอบการที่โดดเด่นชนิดเฉือนกันไม่ลง

ปีนี้ ธนาคารกรุงเทพ ยังคงรักษาตำแหน่งธนาคารแห่งปีติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยมีกำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 10.50 บาท และมีกำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 2 รวมทั้งสิ้น 20,043.20 ล้านบาท จากความสำเร็จในการขยายสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นถึง 13.2% จากปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มทั้งลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ รายกลาง รายปลีก และลูกค้าบุคคล ขณะที่ยอด NPL ลดลงจาก 7.9% เหลือ 4.6%

นอกจากเหนือจากรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นแล้ว ธนาคารยังมีรายได้จากค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นถึง 10.2% ส่วนทางด้านเงินฝากก็ขยายตัวขึ้น 3.5% จากกิจกรรมกระตุ้นเงินฝาก ควบคู่ไปกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนใหม่ๆ เพื่อเสริมสร้างความมั่งคั่งของลูกค้า รวมไปถึงการพัฒนาช่องทางการบริการให้ลูกค้าได้รับบริการที่สะดวกและรวดเร็ว

ส่วน ธนาคารไทยพาณิชย์ ไต่ขึ้นจากอันดับ 2 เมื่อปีที่แล้ว มาเป็นแชมป์ธนาคารแห่งปี 2552 ด้วยผลงานที่สามารถสร้างกำไรสุทธิสูงสุดเป็นอันดับ 1 ถึง 21,499.18 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิต่อหุ้นสูงเป็นอันดับ 2 ที่ 9.07 บาท ซึ่งเป็นผลมาจากการบบริหารจัดการด้านความเสี่ยงและผลตอบแทนที่มีประสิทธิภาพ

โดยธนาคารมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นถึง 12.9% ด้วยกลยุทธ์ที่ธนาคารได้เข้าสนับสนุนและขยายธุรกิจไปในกลุ่มลูกค้าธุรกิจในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนในกลุ่มลูกค้าบุคคลซึ่งเป็นฐานลูกค้าใหญ่ของธนาคารก็ได้เพิ่มจำนวนการใช้บริการทางการเงินต่อลูกค้าแต่ละรายให้มากขึ้น ขณะที่มี NPL ลดลงเหลือ 5.1% จาก 6.1% เมื่อปีก่อน

นอกจากนี้ ยังได้ปรับเพิ่มการตั้งสำรองรายเดือนจาก 300 ล้านบาทต่อเดือน เป็น 500 ล้านบาทต่อเดือน โดยเริ่มมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2551 และจะต่อเนื่องไปในปี 2552 เพื่อแสดงถึงการดำเนินงานที่รอบคอบและระมัดระวัง ตลอดจนคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจที่จะถดถอยในอนาคต

อันดับ 3 ตกเป็นของ ธนาคารเกียรตินาคิน โดยมีอัตราส่วนทางการเงินสูงเป็นอันดับ 1 ทั้ง Net Profit Margin 29.13%, ROA 2.92% และ ROE 18.63% ขณะเดียวกันก็ยังมี BIS สูงเป็นอันดับ 3 ถึง 15.42% ส่วนอันดับ 4 ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย โดยมีผลกำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 3 รวม 14,807.30 ล้านบาท และมี NPL ในระดับต่ำที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่คือที่ 2.81% อันดับ 5 ได้แก่ ธนาคารทิสโก้ ที่ได้ปรับโครงสร้างทางธุรกิจเป็นการรวมศูนย์ที่ลูกค้า และเน้นการนำเสนอนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

ส่วนอันดับ 6 มี 2 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารนครหลวงไทย ที่พลิกฟื้นกลับมามีกำไรสุทธิ 3,807.24 ล้านบาท ซึ่งธนาคารยังมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างทั้งด้านสินเชื่อและเงินฝาก เพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนและลดต้นทุนทางการเงินให้เหมาะสม และ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) โดยสายสถาบันธนกิจในปีที่ผ่านมาเป็นกำลังสำคัญในการทำรายได้ให้กับธนาคาร โดยมีกำไรเพิ่มขึ้น 19%

อันดับ 8 เป็นของ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็น "ธนาคารแสนสะดวก" สำหรับลูกค้ารายย่อย ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และสถาบัน อันดับ 9 ได้แก่ ธนาคารยูโอบี ที่มุ่งเน้นและให้ความสำคัญเป็นประการแรกต่อการบริหารจัดการด้านการเงินที่รอบคอบและการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนอันดับ 10 ได้แก่ ธนาคารธนชาต โดยธนาคารประกาศจะรักษาความเป็นผู้นำทางธุรกิจเช่าซื้อ พร้อมกับเพิ่มการปล่อยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ อันดับ 11 ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งธนาคารยังคงดำเนินนโยบายการเติบโตโดยการขับเคลื่อนจาก 4 ธุรกิจหลัก โดยใช้ทั้งแผนการขยายธุรกิจจากภายใน และการขยายธุรกิจจากภายนอกหรือการเข้าซื้อกิจการ

สำหรับอันดับ 12 ได้แก่ ธนาคารสินเอเซีย ซึ่งใช้กลยุทธ์การให้บริการ คือ รวดเร็ว ยืดหยุ่น และตอบสนองความต้องการบริการทางการเงินที่ครบวงจรแก่ลูกค้า อันดับ 13 ได้แก่ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ โดยธนาคารได้ปรับเปลี่ยนมาใช้กลยุทธ์การเติบโตแบบคุณภาพ

ส่วนอันดับ 14 ยังคงเป็นของ ธนาคารทหารไทย หลังจากลงตัวกับการเข้าถือหุ้นของ ING ธนาคารได้พลิกผลประกอบการจากการขาดทุนถึงกว่า 43,000 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว กลับมาโชว์กำไรสุทธิ 289.15 ล้านบาทในปีนี้ และรั้งอันดับ 15 ด้วย ธนาคารซีไอเอ็มบีไอไทย หรือไทยธนาคารเดิม ที่ยังประสบภาวะขาดทุนถึง 2,787.14 ล้านบาท ซึ่งคงต้องจับตาการดำเนินงานของผู้ถือหุ้นใหม่อย่าง CIMB Group นับจากนี้ไป

สำหรับผลการสำรวจความคิดเห็นของสื่อมวลชนที่มีต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ของธนาคารพาณิชย์ประจำปี 2552 ปรากฏว่า ธนาคารกสิกรไทยได้ครองตำแหน่งพีอาร์แบงก์ขวัญใจสื่อมวลชน ด้วยเหตุผลที่สามารถให้ข้อมูลได้ครบถ้วน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ทำงานเป็นทีม และที่สำคัญผู้บริหารของธนาคารให้ความร่วมมือกับผู้สื่อข่าวเป็นอย่างดี

ปีนี้ วารสารการเงินธนาคาร ได้ทำการจัดอันดับธนาคารแห่งปี 2552 โดยใช้ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 15 แห่ง ในรอบปี 2551 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2551 มาพิจารณาจัดอันดับ

สำหรับปัจจัยที่ใช้วัดยังคงใช้เกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งพิจารณาถึงอัตราส่วนทางการเงินทั้งหมด 10 ด้าน ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของแต่ละธนาคาร ได้แก่ อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์, อัตราผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้น, อัตรากำไรสุทธิต่อรายได้รวม, กำไรต่อหุ้น, มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น, สินทรัพย์, อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม, สำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวม, อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง และอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความสามารถในการแข่งขันที่สะท้อนออกมาในรูปของผลประกอบการที่ดีแล้ว ก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพและความมั่นคงของธนาคารควบคู่กันไปด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ