ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)
ฉบับนี้ผมอยากแนะนำให้ทุกท่าน มาลองหาแนวทางการบริหารเงิน แบบง่ายๆ และเป็นแนวทางใหม่ ในภาวะดอกเบี้ยต่ำติดดิน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ของการบริหารการเงินส่วนตัวแบบมืออาชีพ
ท่านเคยตั้งคำถามกับตัวเองบ้างมั๊ยว่า “เราจะฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์...ไปทำไม..? ผมเชื่อว่ากว่าร้อยละ 90 ไม่เคยมีท่านใดที่จะตั้งคำถามนี้กับตัวท่านเองเลย เนื่องจากทุกท่านส่วนใหญ่มักจะกระทำตามความเคยชิน ยิ่งสำหรับมนุษย์เงินเดือนด้วยแล้วยิ่งแทบจะไม่เคยหวนกลับมาคิดเลยว่า เงินเดือนแต่ละเดือนที่ทุกๆท่านได้รับมานั้น ควรจะเก็บออมไว้ในบัญชีออมทรัพย์หรือบัญชีสะสมทรัพย์ ถือว่าเป็นการบริหารเงินที่ดีอยู่แล้ว ถือว่าเป็นการบริหารเงินที่ดีที่สุดแล้ว เนื่องด้วยเพราะความสะดวกในการเบิกเงินเพื่อมาใช้สอย อีกทั้งยังมีความมั่นคงในระดับที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากมีรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันให้กับทุกๆท่านอยู่ และเช่นเดียวกันกับผู้ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือแม้แต่สภาพคล่องส่วนเกินของกิจการ เมื่อมีกระแสเงินสดเป็นบวก ก็มักจะนำเงินมาพักไว้ที่บัญชีออมทรัพย์หรือบัญชีสะสมทรัพย์
ดังนั้นหลายๆ ท่านจึงมีความรู้สึกว่าการพักเงินหมุนเวียน หรือรายได้ ไว้ในบัญชีออมทรัพย์ หรือสะสมทรัพย์นั้น ดีอยู่แล้ว หรืออาจเป็นเพราะความเคยชิน เนื่องจากท่านยังไม่มีแนวทางอื่นๆ ที่จะบริหารเงินก้อนนี้เลย และมีอีกหลายๆท่านคิดว่าการบริหารเงินก้อนนี้เป็นเรื่องยุ่งยาก หรือมีค่าใช้จ่ายที่ทำให้ไม่คุ้มค่า ลองมาหาวิธีง่ายๆ สบายๆในการบริหารเงินก้อนนี้กันเถอะครับ
ท่านลองถามตัวท่านเองก่อนซิครับว่า “เงินก้อนนี้สามารถทิ้งไว้ได้นานแค่ไหน” หากเงินก้อนดังกล่าวท่านไม่ได้คิดว่าจะนำไปใช้จ่ายเลย ต้องทิ้งไว้ในบัญชีออมทรัพย์ตั้งแต่ 15 วันขึ้นไป ก็ควรที่จะเริ่มคิดที่จะบริหารเงินดังกล่าวให้ไปอยู่ในที่ๆสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า การฝากเงินออมทรัพย์ และเงินฝากประจำ
หากคำตอบที่ได้มาว่า เงินก้อนนี้ไม่สามารถอยู่ได้เกินกว่า 15 วัน แล้วเราจะทำอย่างไรกับเงินก้อนนี้ ?
บางท่านอาจจะตอบว่า “ก็ต้องเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์เหมือนเดิม” แต่นั้นก็ยังไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดเพราะในปัจจุบันมีกองทุนรวมอีกประเภทหนึ่ง ที่ให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าการฝากออมทรัพย์ และอาจจะดีกว่าเงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน ด้วยซ้ำครับ ขณะที่มีระดับความเสี่ยงที่ใกล้เคียงกับการฝากเงินกับธนาคาร และยังมีความคล่องตัว สามารถขายคืนหรือทำการไถ่ถอนเพื่อรับเงินไปใช้จ่ายได้ในวันรุ่งขึ้น นอกจากนี้ เราลองมาทำความรู้จักกับกองทุนรวมตลาดเงินกันดีกว่า
กองทุนรวมตลาดเงิน หรือเรียกว่า Money Market Fund นั้น คือกองทุนที่ระดมเงินออมของทุกท่านไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุคงเหลือไม่เกินหนึ่งปี เช่น ตั๋วเงินจากระทรวงการคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ตั๋วเงินจากธนาคารพาณิชย์ หุ้นกู้ระยะสั้นของธนาคารพาณิชย์และบริษัทเอกชน รวมทั้ง
เงินฝากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันแล้วอัตราผลตอบแทนที่ได้รับจะอยู่ระหว่างร้อยละ 1.5 ถึงร้อยละ 2 ต่อปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำอยู่ที่อัตราร้อยละ 0.75 อัตรดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน และ 6 เดือน อยู่ระหว่าง ร้อยละ 1.00 ถึง 1.75 แต่ยังต้องเสียภาษี ตามตารางด้านล่างนี้
อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับบุคคลธรรมดา ของธนาคารพาณิชย์ ประจำวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552
ธนาคาร ออมทรัพย์ ประจำ
3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน 24 เดือน
ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ
กรุงเทพ 0.7500 1.2500-1.5000 1.5000 1.7500 2.0000
กรุงไทย 0.7500 1.0000-1.2500 1.1500-1.2500 1.2500 2.0000
กสิกรไทย 0.7500 1.0000-1.2500 1.1500-1.2500 1.2500 2.0000
ไทยพาณิชย์ 0.7500 1.0000-1.2500 1.2500 1.5000 2.0000
กรุงศรีอยุธยา 0.7500 1.2500-1.5000 1.5000 1.7500 2.0000
ทหารไทย 0.7500-1.2500 1.1000-1.3750 1.2500-1.5000 1.4000-1.6500 2.0000-2.2500
นครหลวงไทย 0.7500-1.2500 1.5000 1.5000 1.7500 2.2500
ยูโอบี 0.7500 1.5000-1.7500 1.5000-1.7500 1.5000-1.7500 2.5000
ไทยธนาคาร 0.7500-1.2500 1.3750-1.5000 1.5000 1.7500 2.2500
สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) 0.0000-1.7500 1.0000-1.2500 1.0000-1.2500 1.0000-1.2500 1.0000-1.2500
ธนชาต 0.8500-1.5000 1.6000 1.6000 1.9000 -
ทิสโก้ 1.0000-1.7500 1.6250 1.6250 1.6250-1.7500 1.8750-2.0000
เมกะ สากลพาณิชย์ 0.5000 1.1250 1.2500 1.2500 -
เกียรตินาคิน 0.7500 1.5000-1.7500 1.5000-1.7500 1.5000-2.2500 1.7500-2.0000
แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย 1.2500-1.7500 1.6250-1.7500 1.6250-1.7500 1.6250-1.7500 2.0000
สินเอเซีย 1.0000-2.0000 1.5000-1.8750 1.5000-1.7500 1.5000-1.7500 2.0000-2.2500
ไทยเครดิตเพื่อรายย่อย 1.2500 1.5000 1.5000 1.5000 2.2500-2.5000
เอไอจี เพื่อรายย่อย 1.0000-1.5000 2.5000 2.5000 2.5000 2.5000
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
เป็นยังไงละครับ พอท่านทราบอย่างนี้แล้วคิดจะเปลี่ยนใจมาบริหารเงินผ่านกองทุนตลาดเงินกันดีมั๊ย...ครับ เพราะหากท่านเริ่มบริหารจัดการในรูปแบบใหม่ ก็จะสามารถทำให้ท่านได้รับผลตอบแทนส่วนเพิ่มขึ้นได้โดยไม่ยุ่งยากเลย
อย่างไรก็ตามเราลองมาดูความแตกต่างระหว่างการบริหารเงินออมผ่านการฝากเงินออมทรัพย์กับการลงทุนในกองทุนตลาดเงินว่ามีส่วนต่างกันตรงไหนบ้าง
ตารางเปรียบเทียบการลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินกับการฝากเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์
การฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ การลงทุนในกองทุนตลาดเงิน
ความเสี่ยง เสี่ยงต่ำ เพราะมีประกันเงินฝาก 100 % เสี่ยงต่ำกว่าการฝากเงินกับธนาคาร หากกองทุนตลาดเงินดังกล่าวลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ และเงินฝาก
แต่ในอนาคตเงินฝากจะไม่ได้รับความคุ้มครอง ทั้ง 100%
ความเสี่ยงอาจสูงกว่าการฝากเงิน
หากลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นของบริษัทเอกชนในสัดส่วนที่สูง
อัตราผลตอบแทน ร้อยละ 0.75 แต่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ประมาณร้อยละ 1.50— 2.00 (บุคคลธรรมดา ไม่ต้องเสียภาษี)
ผลตอบแทนแน่นอน ผลตอบแทนขึ้นลงไม่แน่นอน
สภาพคล่อง ถอนปุ๊บได้รับเงินทันที ต้องรอรับในวันรุ่งขึ้น
เทคนิคการบริหารเงินออมผ่านกองทุนรวมตลาดเงิน
1. ท่านต้องวางแผนการใช้จ่ายเงินล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน (ตามเงื่อนไขการรับเงินคืนของกองทุนแต่ละกองทุน) เพราะเมื่อท่านต้องการถอนเงินคืนท่านจะไม่ได้รับเงินคืนในวันที่ท่านไปถอน แต่จะได้รับในวันรุ่งขึ้น (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละกองทุน)
2. ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนจะไม่เสียภาษี หัก ณที่จ่าย 15% และสามารถไถ่ถอนหน่วยลงทุนได้ทุกวัน ในขณะที่ การเงินฝากประจำ หากท่านมีความจำเป็นต้องการใช้เงินและไถ่ถอนก่อนกำหนด ท่านจะไม่ได้รับดอกเบี้ย (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขฝากประจำแต่ละประเภท)
3. ท่านต้องทราบนโยบายการลงทุนว่าเน้นการลงทุนตราสารภาครัฐหรือเอกชน เพราะจะเป็นกรอบในการกำหนดความเสี่ยงการลงทุนให้ท่านได้ หรืออาจจะพิจารณาจากรายงานสถานะการลงทุนในแต่ละเดือนของกองทุนนั้นๆ ว่าไปลงทุนในตราสารทางการเงินประเภทใดบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนแต่ละกองทุนที่จะเปิดเผยเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้ลงทุน
สุดท้ายนี้ผมก็หวังว่าแนวทางการบริหารเงินระยะสั้นผ่านกองทุนรวมตลาดเงินนั้น คงจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งของการบริหารเงิน นอกเหนือไปจากการฝากเงินผ่านธนาคารพาณิชย์
หากท่านสนใจและมองหาทางเลือกให้เงินออมในภาวะดอกเบี้ยต่ำ มาเปลี่ยนใจใช้กองทุนรวมในงาน SET in the city Zone@ Money Expo 2009 ณ Meeting Room 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
“การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในหนังสือชี้ชวนเสมอก่อนตัดสินใจทุกครั้ง”