นางจรวยพร ธรณินทร์ กรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ในฐานะโฆษก ก.พ.ค.กล่าวว่า ที่ผ่านมา นางสาวแพมพา บูซาล (Ms.Pampha Bhusal) รัฐมนตรีกระทรวงการบริหารทั่วไปของประเทศเนปาล และคณะ ได้เดินทางเข้าเยี่ยมและศึกษาดูงาน ระบบพิทักษ์คุณธรรมของประเทศไทย เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาระบบคุณธรรมในวงราชการของประเทศเนปาล ซึ่งคณะของนางสาวแพมพา บูซาล รัฐมนตรีกระทรวงการบริหารทั่วไปเนปาลได้ให้ความสนใจการนำเสนอรายละเอียดระบบพิทักษ์คุณธรรมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก พร้อมกันนี้ ได้สนับสนุนแนวทางการใช้หลักธรรมาภิบาลในการสรรหาและแต่งตั้งข้าราชการ เพื่อป้องกันมิให้เกิดข้อคับข้องใจที่นำไปสู่การร้องทุกข์ จนทำให้องค์กร ด้อยประสิทธิภาพ เนื่องจากขาดขวัญและกำลังใจ
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกระทรวงการบริหารทั่วไปของประเทศเนปาล ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับระบบพิทักษ์คุณธรรมของข้าราชการพลเรือนไทยว่า ควรกำหนดให้ ก.พ.ค. เป็นองค์กรในการคุ้มครองระบบคุณธรรมเพียงองค์กรเดียว จากปัจจุบันที่ประเทศไทยมีองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของช้าราชการทุกประเภทรวมถึง 13 คณะ และต่างมีกฎหมายเฉพาะ เช่น ข้าราชการครู ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ตำรวจ ข้าราชการรัฐสภา พนักงานส่วนท้องถิ่น อบต. อบจ. เทศบาล และกรุงเทพมหานคร ฯลฯ หรือมิเช่นนั้นก็ควรมีการปฏิบัติ ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ข้าราชการมีหลักประกันในความยุติธรรมและความเสมอภาค
นอกจากนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตกรณีการใช้ข้อกำหนดให้การบริหารงานบุคคลต้องคำนึงถึงความรู้ ความสามารถ และปลอดจากการเมือง จากการที่ข้าราชการประจำต้องทำงานอยู่ภายใต้นโยบายของนักการเมือง
สำหรับความก้าวหน้าในการดำเนินงานของ ก.พ.ค. นั้น โฆษก ก.พ.ค.กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 ถึงมีนาคม 2552 มีเรื่องร้องเข้ามาที่ ก.พ.ค. แล้วรวม 133 เรื่อง โดย เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของ ก.พ.ค. รวม 41 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องอุทธรณ์ 18 เรื่อง และเรื่อง ร้องทุกข์ 23 เรื่อง ซึ่งในส่วนของการร้องทุกข์ที่มีสาเหตุจากการจัดบุคคลลงตำแหน่ง ภายหลังยกเลิกระบบซี ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมานั้น ทาง ก.พ.ค.จะได้มีการหารือกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป โดยยืนยันจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ส่วนเรื่องไม่อยู่ในอำนาจวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ซึ่งมีจำนวน 92 เรื่อง โฆษก ก.พ.ค. กล่าวว่า ก.พ.ค. จะยังเร่งเดินหน้าเพื่อทำความเข้าใจกับข้าราชการต่อไปเพื่อให้ทราบว่าในส่วนที่มิใช่ข้าราชการพลเรือนต้องอุทธรณ์และร้องทุกข์ไปที่หน่วยงานต้นสังกัด ในขณะที่เรื่องร้องทุกข์ ของข้าราชการพลเรือนที่สามารถส่งมายัง ก.พ.ค. นั้น จะกำหนดเฉพาะในส่วนที่ความคับข้องใจเกิดจากผู้บังคับบัญชาในระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และปลัดกระทรวง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. สายด่วน 1786 กลุ่มสื่อสารองค์กร สำนักงาน ก.พ.