ผู้บริหารจากภาคอุตสาหกรรม (การนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด) ประกอบด้วย ดร.สมาน ตั้งทองทวี : รองผู้ว่าการนิคมแห่งประเทศไทย, ดร.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี : รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล : ที่ปรึกษาฝ่ายพัฒนาและประกันคุณภาพวิชาการ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล, ดร.พีระวัฒน์ สมนึก : ผู้จัดการบริษัท โปร เพท ( ประเทศไทย) จำกัด , นายฐิติ ตัณฑสุทธิ์ : ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้าน GMP ทางเครื่องสำอางค์ของ สวทช., นายพีระวัฒน์ รุ่งเรืองศรี : ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด, นายสมเกียรติ สุพรรณชนะบุรี : ผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ เป็นต้น
นายปฐม แหยมเกตุ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวในการเปิดประชุมหารือเรื่อง การบูรณาการ ของ วศ. กับภาคอุตสาหกรรม ครั้งที่ 1/2552 ว่า “ กรมวิทยาศาสตร์บริการ มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่า 118 ปี ตั้งแต่สมัยก่อตั้งเป็นหน่วยงานเล็กๆ ที่ชื่อว่า สถานปฎิบัติการวิเคราะห์แร่(ห้องแยกแร่) ที่ผ่านมาข้าราชการทุกคนต่างก็มุ่งเน้นที่จะพัฒนาองค์กรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับวิสัยทัศน์ของกรมฯ ที่วางไว้ว่าจะทำให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นองค์กรที่มีความสามารถเป็นเลิศในการให้บริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจ สังคมของประเทศไทยได้อย่างทันสมัยและยั่งยืน โดยมีภารกิจให้บริการทางวิทยาศาสตร์ ดำเนินการกำกับดูแลส่งเสริม วิจัยพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งเป็นสถานปฏิบัติการกลางทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ เพื่อเสริมสร้างการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน”
นายปฐม กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทุกองคาพยพของกรมวิทยาศาสตร์บริการในขณะนี้ พร้อมจะให้บริการโดยดำเนินการให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ปัญหาและอุปสรรคใดๆที่เกิดขึ้นก็ต้องได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ดังนั้น ในการประชุมหารือครั้งนี้ กรมฯจึงได้เรียนเชิญภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและนำเสนอถึงความต้องการจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อภาครัฐจะได้นำข้อเสนอต่างๆเหล่านี้ไปปรับใช้ในการพัฒนางานบริการของกรมวิทยาศาสตร์บริการให้ดีขึ้นและทันสมัยตอบสนองได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้มุ่งเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าไทยให้ได้มาตรฐานสากล และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกต่อไป”
ดร.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี : รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงความต้องการของภาคอุตสาหกรรมว่า “อยากเห็นการทำงานของกรมวิทยาศาสตร์บริการ มีการปรับปรุงให้ทันสมัยสามารถรองรับกับการแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้ ยกตัวอย่างจากกรณีของกุ้งกุลาดำที่มีปัญหาไม่ผ่านการตรวจสอบของตลาดภาคพื้นยุโรป ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ในการตรวจสอบที่ได้มาตรฐาน คนไทยส่งกุ้งไปยุโรปก็โดนตรวจพบสารปนเปื้อนจำนวนหลายล๊อตจนกระทั่งมีปัญหาเป็นข่าวใหญ่โต ถ้าภาครัฐไทยสนับสนุนการจัดหาเครื่องมือในการตรวจสอบการปนเปื้อนที่มีมาตรฐานเทียบเท่ากับทาง EU ได้ ปัญหาเหล่านี้คงไม่เกิดขึ้น ซึ่งทางกรมวิทยาศาสตร์บริการ สามารถพัฒนาทั้งอุปกรณ์และบุคลากรของหน่วยงานให้ทันสมัยในเรื่องเหล่านี้ หรืออาจจะใช้วิธีร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อซื้อเครื่องมือตรวจหาสารปนเปื้อนที่ราคาค่อนข้างสูง เป็นการเฉลี่ยภาระค่าใช้จ่าย แต่ได้ผลประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย ก็จะเป็นทางออกที่ดีประการหนึ่ง”
ดร.สมาน ตั้งทองทวี : รองผู้ว่าการนิคมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงเรื่องของความร่วมมือนี้ว่า “โดยปกติภาคอุตสาหกรรมบ้านเรานั้นมีหลากหลายระดับ ถ้าเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ก็อาจจะไม่มีปัญหาเรื่องเงินทุนหรือเครื่องมือ เพราะส่วนใหญ่มักมีพาร์ทเนอร์ร่วมทุนจากต่างชาติ ซึ่งมีความพร้อมเรื่องเทคโนโลยีค่อนข้างสูง มีทั้งการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างสมบูรณ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก แต่กลุ่มอุตสาหกรรมระดับ SMEs ซึ่งประเทศไทยก็พยายามปลุกปั้นให้เป็นกองทัพเศรษฐกิจนั้น ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้เพราะขาดความพร้อมเรื่องกำลังทรัพย์และเทคโนโลยี ต้องรอการสนับสนุนจากภาครัฐ ดังนั้น ทางกรมวิทยาศาสตร์บริการควรเร่งตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กเหล่านี้ เพื่อให้ SMEs เป็นกองทัพมดที่แข็งแกร่งของประเทศต่อไป”
ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล : ที่ปรึกษาฝ่ายพัฒนาและประกันคุณภาพวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการพัฒนาของกรมวิทยาศาสตร์บริการที่มุ่งเน้นการให้บริการเทียบมาตรฐานสากล และปรับปรุงให้เป็นสถานปฏิบัติการกลางทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยนั้น กรมวิทยาศาสตร์บริการจำเป็นต้องพัฒนาเรื่องของเทคโนโลยีควบคู่กันไปกับการปรับปรุงเรื่องสิ่งจูงใจในการทำงานให้กับบุคลากรด้วย เช่นเรื่องของค่าตอบแทน ค่าล่วงเวลา เพื่อจูงใจให้คนเก่งๆเข้ามาอยู่กับกรมฯมากขึ้น และภายใต้กรอบการทำงานแบบราชการ ทางกรมฯจึงต้องสร้างวัฒนธรรมในการทำงานให้ได้ใกล้เคียงกับภาคเอกชนมากขึ้น เพื่อให้บุคลากรเกิดความกระตือรือล้นในการทำงาน โดยได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของตนเอง
นายสมเกียรติ สุพรรณชนะบุรี : ผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ กล่าวเสนอความเห็นในการประชุมหารือครั้งนี้ว่า “รู้สึกยินดีเมื่อได้ยินว่าทางกรมวิทยาศาสตร์บริการ กำลังเร่งปรับปรุงการให้บริการของตนเองให้เป็นสากลยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะกรอบการทำงานแบบราชการก็มีข้อจำกัดและเงื่อนไขหลายอย่างที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาองค์กร ซึ่งถ้าทางกรมฯมีความตั้งใจที่จะเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานให้ทันสมัยและสามารถรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง ตนก็อยากจะฝากให้ทางกรมวิทยาศาสตร์บริการ ให้ความสำคัญกับเรื่องของการพัฒนาและวิจัย R&Dเพิ่มขึ้นอีกแนวทางหนึ่ง นอกเหนือจากเรื่องการ Testing ที่ทำอยู่ในปัจจุบันนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้หน่วยงานของกรมวิทยาศาสตร์บริการ สามารถรองรับและเป็นหน่วยงานอันดับต้นๆที่ภาคอุตสาหกรรมจะนึกถึงเมื่อต้องการความช่วยเหลือทางด้านนี้ในอนาคตต่อไป”
ในช่วงท้ายของการประชุมหารือครั้งนี้ นายปฐม แหยมเกตุ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้กล่าวว่ารู้สึกพอใจในการหารือครั้งนี้ เพราะทำให้เกิดความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหน่วยงานของกรมฯเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในยุคของข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีเช่นนี้ กรมวิทยาศาสต์บริการก็กำลังเร่งปรับปรุงการทำงานอย่างเต็มความสามารถ เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นมาตรฐานสากล ซึ่งยุทธศาสตร์ของกรมวิทยาศาสตร์บริการในยุคใหม่นี้ก็จะวางเป้าหมายไว้ที่การยกระดับภาพพจน์และการทำงาน จนถึงขั้นที่มาตรฐานห้องแลปของกรมฯ สามารถใช้เป็นแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับจากทุกหน่วยงานระดับประเทศและสากล ต่อไป
ปัจจุบัน หน่วยงานในสังกัดกรมวิทยาศาสตร์บริการ มีทั้งสิ้น 8 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเลขานุการกรม, สำนักบริหารและรับรองห้องปฎิบัติการ, สำนักพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฎิบัติการ, สำนักเทคโนโลยีชุมชน, โครงการเคมี, โครงการฟิสิกส์และวิศวกรรม, โครงการวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขณะนี้ได้เร่งพัฒนางานการให้บริการในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การให้บริการวิเคราะห์ทดสอบวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ทางด้านฟิสิกส์ เคมี เคมีเชิงฟิสิกส์ ฟิสิกส์เชิงกลและวิศวกรรม และ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ รวมถึงการศึกษาวิจัยและพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน การบริการหอสมุดและข้อมูลสารนิเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับชาติ และ การพัฒนาระบบงานด้านคุณภาพและการรับรองความสามารถของห้องปฏิบัติการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: บ.แอลคอม จำกัด (ที่ปรึกษางานประชาสัมพันธ์) โทร.02 -3752674-5 โทรสาร 02 -375 2670