บล.บัวหลวงจัดพอร์ตลูกค้า 3 กลุ่ม รับมือภาวะ-การเมือง-ดอกเบี้ยลง

อังคาร ๒๑ เมษายน ๒๐๐๙ ๑๕:๕๙
บมจ. หลักทรัพย์บัวหลวง มองตลาดหุ้นยังผันผวน แนะเพิ่มลงทุนตราสารหนี้อายุ 3-5 ปี และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ท่ามกลางดอกเบี้ยขาลง เผยผลงานพอร์ตลงทุน 3 ประเภทที่จัดให้ลูกค้ากระจายความเสี่ยง พบตั้งแต่ต้นปีผลตอบแทนดีกว่าลงทุนหุ้นอย่างเดียวที่ติดลบ 5.14%

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ BLS เปิดเผยถึงกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบัน บริษัทฯ ยังคงแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุน สำหรับตั๋วเงินคลังและพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นและระยะกลางระยะเวลา 3-5 ปี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอและความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้การบริโภคลดลง จนทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือ 1.25%

โดย บล.บัวหลวงไม่คาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในระยะนี้ เนื่องจากกำลังการผลิตเหลือเพียงพอ ดังนั้นหากนักลงทุนยอมรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้ สามารถหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากการลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือสูงเพื่อรองรับแนวโน้มเงินฝืด

ขณะเดียวกันได้แนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุนสำหรับตราสารหนี้ระยะยาว เนื่องจากคาดว่าจะมีตราสารใหม่เพิ่มขึ้นจากการใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะกดดันราคาพันธบัตร แม้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะเวลา 10 ปี จะปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 3.98% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แต่มองว่าราคาพันธบัตรยังไม่ต่ำพอที่จะเข้าซื้อ รวมทั้งปรับลดคำแนะนำการลงทุนในทองคำจาก เพิ่มน้ำหนักการลงทุน มาเป็นถือเท่านั้น เนื่องจากไอเอ็มเอฟอาจขายทองคำเพื่อเพิ่มเงินคงคลัง ทำให้ราคาทองคำถูกกดดันทางเทคนิค ขณะที่มอร์แกน สแตนเลย์ ยังคงประมาณการราคาทองเฉลี่ยปี 2552 ที่ 1,000 เหรียญต่อออนซ์

สำหรับตลาดหุ้น นายชัยพรแนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุนลง เนื่องจากตลาดปรับตัวมาทดสอบระดับสูงสุด โดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งขึ้น รวมถึงให้ลดน้ำหนักการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ซึ่งยังคงกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่อเนื่อง และอาจปรับลดลงอีกจนถึงช่วงกลางปี 2552

นอกจากนี้ ได้แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ จากการคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งในภาวะปกติอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง จะเป็นประโยชน์ต่อกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในระยะนี้ จึงมีโอกาสได้รับผลตอบแทนในรูปของกำไรจากการลงทุน (Capital Gain) และอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ที่สูงกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะเวลา 10 ปี

" จากข้อมูลทางเศรษฐกิจ ยังไม่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวของพื้นฐานหุ้น ดังนั้นการปรับตัวขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นเกิดจากสภาพคล่องที่ดีขึ้น ซึ่งคาดว่านโยบายการคลังจะส่งผลดีในครึ่งหลังของปีนี้ และผลประกอบการไตรมาส 2 จะมีแนวโน้มทรงตัวเทียบกับไตรมาสแรก แต่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสสองของปีก่อน จึงคาดว่า ตลาดจะจับตาดูผลประกอบการในครึ่งหลังของปี มากกว่าผลประกอบการบริษัทในระยะสั้น เนื่องจากคาดว่าภูมิภาคเอเชีย จะฟื้นตัวเร็วกว่าภูมิภาคอื่น ส่งผลให้แรงขายต่างชาติอาจจบลง" นายชัยพรกล่าว

นายชัยพร เผยว่า นอกจากนี้ มอร์แกน สแตนเลย์ ซึ่งเป็นพันธมิตรของบริษัทฯ ได้รายงานเงินทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่สุทธิเล็กน้อยในไตรมาส 1 ของปี 2552 ซึ่งฝ่ายวิจัยบล.บัวหลวงคาดว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะเคลื่อนไหวในกรอบระดับ 470 จุด หรือคิดเป็นมูลค่าเทียบกับมูลค่าทางบัญชี 1 เท่าโดยมีแนวรับที่ 420 จุด หรือคิดเป็นมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชีอยู่ 15%

นายชัยพร เผยต่อว่า สำหรับรูปแบบพอร์ตการลงทุน ที่บล.บัวหลวงจัดให้ลูกค้าแบ่งเป็น 3 กลุ่ม โดย กลุ่มแรกพอร์ตหลีกเลี่ยงความเสี่ยง หรือการลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม เน้นลงทุนในสินทรัพย์ซึ่งมีความผันผวนของผลตอบแทนและความเสี่ยง จากการขาดทุนต่ำค่อนข้างต่ำ โดยคาดว่าอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของพอร์ตการลงทุน จะอยู่ในราว 4.36% ต่อปี

กลุ่มที่สอง พอร์ตที่มีความเสี่ยงปานกลาง จะกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ ซึ่งมีความผันผวนของผลตอบแทนสูงกว่าแบบแรก โดยรวมถึงการลงทุนในตลาดหุ้น สินค้าโภคภัณฑ์และทอง และคาดหวังอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 5.87% ต่อปี

กลุ่มที่สาม พอร์ตที่นักลงทุนสามารถรับความผันผวนของผลตอบแทนได้สูง เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนมากขึ้น มีอัตราผลตอบแทนคาดหวังที่ 6.53% ต่อปี เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบขาดทุนได้ 16.15% ถึงกำไรสูงถึง 29.1% อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนและความเสี่ยงของพอร์ตรูปแบบนี้คาดการณ์ได้ยากเพราะมีความผันผวนของผลตอบแทนสูง

นายชัยพร กล่าวว่า จากพอร์ตการลงทุนทั้งสามรูปแบบ ยังพบว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงต้นเดือน เม.ย.พอร์ตการลงทุนแบบหลีกเลี่ยงความเสี่ยง มีผลตอบแทนรวมติดลบ 0.03% ขณะที่ค่าผันผวนของผลตอบแทนเพียง 0.50% ซึ่งต่ำกว่าพอร์ตที่ลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว ที่มีค่าผันผวนของผลตอบแทนถึง 7.56% โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ให้ผลตอบแทนติดลบ 5.14%

สำหรับพอร์ตการลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลาง มีค่าเบี่ยนเบนของผลตอบแทนเท่ากับ 2.68% โดยผลตอบแทนของพอร์ตตั้งแต่ต้นปีจนถึงต้นเดือนเม.ย. ติดลบ 1.21% ขณะที่พอร์ตที่มีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้มากนั้นมีค่าเบี่ยงเบนของผลตอบแทนเท่ากับ 2.66% โดยผลตอบแทนของพอร์ตตั้งแต่ต้นปีจนถึงต้นเดือนเม.ย.ติดลบ 1.25%

"โดยภาพรวม เรายังคงให้น้ำหนักสินทรัพย์ทุกประเภทคงเดิมจากเดือนมีนาคม เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานสำหรับกลยุทธ์การกระจายเงินลงทุน ในสินทรัพย์ปี 2552 ของฝ่ายวิจัย ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินฝืด โดยดัชนีราคาผู้บริโภคปรับลดลง 0.2% เมื่อเทียบช่วงเดือนมีนาคมของปีก่อน ต่อเนื่องจาก 2 เดือนแรกของปีนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจทรงตัวในเดือนมีนาคม แต่ความเสี่ยงทางการเมืองทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้น จึงเชื่อว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งในเชิงนโยบายการเงิน และการคลังยังเป็นนโยบายหลักในปีนี้ " นายชัยพรกล่าวสรุป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

คุณปิยวรรณ (เอ๋) / คุณวรกุล (ขนุน) / 02-292-9383

บริษัท บ้านพีอาร์ จำกัด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ