แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของบริษัทอยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะทางการตลาดได้ต่อไปด้วยการรักษาฐานลูกค้าเดิมและขยายฐานลูกค้าใหม่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย และคาดว่าบริษัทจะรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรโดยการควบคุมต้นทุนและการทำกำไรที่ต่อเนื่องจากการขายสินทรัพย์ให้เช่า
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทกรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส ให้บริการรถยนต์เช่าดำเนินงานทั้งแบบระยะยาวและระยะสั้น หากพิจารณาจากสินทรัพย์ให้เช่าสุทธิ บริษัทถือเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่อันดับ 3 จากจำนวนผู้ให้บริการ 25 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง หลังจากการปรับโครงสร้างเงินทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปลายปี 2548 สินทรัพย์ให้เช่าสุทธิของบริษัทก็เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จาก 1,283 ล้านบาทในปี 2547 เป็น 2,784 ล้านบาทในปี 2551 ตั้งแต่ปี 2549 รายได้จากการให้เช่ารถยนต์แบบระยะยาวคิดเป็นอัตราส่วนมากกว่า 90% ของรายได้ค่าเช่ารวม โดยเพิ่มขึ้นจาก 83% ในปี 2548 ณ สิ้นปี 2551 บริษัทมีรถยนต์ให้เช่า 5,416 คัน เพิ่มขึ้นจาก 4,656 คันในปี 2550 โดยเกือบทั้งหมด (92%) ให้บริการภายใต้สัญญาเช่าระยะยาว และส่วนที่เหลือเป็นรถให้เช่าระยะสั้นและรถทดแทน ความสามารถในการหาลูกค้าใหม่เป็นสิ่งที่ท้าทายของบริษัทในช่วงที่เศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัวอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้บริการรถเช่าที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนความพยายามของบริษัทในการขยายธุรกิจเนื่องจากหน่วยงานต่างๆ เริ่มตระหนักถึงประโยชน์จากการใช้บริการรถเช่ามากยิ่งขึ้น
บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทที่เกี่ยวข้อง โดยมากกว่า 50% ของรถยนต์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ให้เช่ามีการจัดซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่คือตระกูลจันทรเสรีกุลเป็นเจ้าของ ส่งผลให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสนอพิเศษจากผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งช่วยให้บริษัทจัดซื้อรถยนต์ให้เช่าในราคาที่ถูกกว่า และนอกจากศูนย์บริการทั่วประเทศมากกว่า 500 แห่งซึ่งบริษัทมีการทำสัญญาทางธุรกิจด้วยแล้ว บริษัทยังเป็นเจ้าของศูนย์บริการของตนเองซึ่งทำให้สามารถควบคุมต้นทุนจากการบำรุงรักษาที่ไม่จำเป็นอันอาจเกิดจากศูนย์บริการภายนอกด้วย บริษัทจัดจำหน่ายรถยนต์ให้เช่าซึ่งหมดสัญญาเช่ากับลูกค้าแล้วผ่านทางบริษัทลูกคือ บริษัท กรุงไทย ออโตโมบิล จำกัด ด้วยประสบการณ์ของผู้บริหารของบริษัทกรุงไทย ออโตโมบิล และการได้รับการรับรองคุณภาพรถยนต์ใช้แล้วภายใต้ “โครงการโตโยต้าชัวร์” ช่วยให้บริษัทสามารถจำหน่ายรถยนต์ให้เช่าที่หมดอายุสัญญาแล้วในราคาที่สูงกว่าการจำหน่ายผ่านตัวแทนรับประมูลทั่วๆ ไป โดยบริษัทมีกำไรจากการขายรถยนต์ที่หมดสัญญาเช่าจำนวน 121 ล้านบาท 149 ล้านบาท และ 174 ล้านบาทในช่วงปี 2549-2551 ตามลำดับ คิดเป็นประมาณ 12% ของรายได้รวมของบริษัทในแต่ละปี
ในปี 2551 บริษัทมีกำไรสุทธิ 229 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.6% จาก 213 ล้านบาทในปี 2550 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อรายได้รวมลดลงเป็น 15.7% ในปี 2551 จาก 17.6% ในปี 2550 และอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยก็ลดลงเป็น 7.6% ในปี 2551 จาก 8.5% ในปี 2550 เช่นกัน ความสามารถในการทำกำไรที่อ่อนลงเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายสำหรับค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงขยายธุรกิจ นโยบายค่าเสื่อมราคาแบบอนุรักษ์นิยมจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทเมื่อมีการจำหน่ายสินทรัพย์ให้เช่าที่หมดอายุสัญญาแล้ว โดยจะสะท้อนในกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่า แม้ว่าความสามารถในการทำกำไรจะลดลง แต่ก็ยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง บริษัทมีฐานะสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินในระดับปานกลาง โดยมีสภาพคล่องที่เพียงพอที่ได้รับจากค่าเช่าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ลักษณะของสินทรัพย์ให้เช่าซึ่งมีสภาพคล่องสูงในการจำหน่ายจะช่วยลดทอนความเสี่ยงด้านสภาพคล่องให้แก่บริษัทได้บางส่วน ทริสเรทติ้งกล่าว
บริษัท กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส จำกัด (มหาชน) (KCAR)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable หรือ คงที่