อันดับเครดิตของ TISCO สะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไร คุณภาพสินทรัพย์ และฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของธนาคาร แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าการที่ TISCO มีการพึ่งพาแหล่งเงินระยะสั้นเป็นหลักและมีการกระจายตัวของการระดมเงินไม่มากนักทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องสูงกว่าธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศไทย จากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่อ่อนแอลงและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่คาดการณ์ว่าจะลดลงอย่างรุนแรงในปี 2552 โดยฟิทช์ประมาณการณ์การเติบโตของ GDP ประเทศไทยว่าจะติดลบ 3.8% อาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของธนาคารในปีนี้ สำหรับแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพนั้น สะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรโดยรวม คุณภาพสินทรัพย์ และฐานะเงินกองทุนที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับเดิม อย่างไรก็ตามธนาคารยังคงมีโครงสร้างในด้านการระดมเงินและสภาพคล่องที่อ่อนแอกว่าธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศไทย
จากการที่ TISCO มีการพึ่งพาเงินฝากจากลูกค้าผู้ฝากเงินรายใหญ่เป็นหลักซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งของฐานการระดมเงินของธนาคาร และส่วนใหญ่เป็นหนี้สินระยะสั้น จึงทำให้มีความเสี่ยงในด้านสภาพคล่อง แต่อย่างไรก็ตามการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนจากภาครัฐในปัจจุบันและแหล่งเงินกู้สำรองของธนาคาร มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในด้านสภาพคล่องของธนาคารลงได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ TISCO มีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนหนี้ระยะยาวและเพิ่มฐานลูกค้าเงินฝากรายย่อยให้มากขึ้นภายใน 2 — 3 ปีข้างหน้า เนื่องจากยอดของเงินฝากที่จะได้รับการคุ้มครองจะทยอยลดลง
จากการที่การปรับโครงสร้างของกลุ่มบริษัทในเครือเสร็จสิ้นไปเมื่อสิ้นปี 2551 มีผลให้ TISCO ได้โอนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไปยังบริษัทโฮลดิ้งที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ บริษัท ทิสโก้ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แม้ว่าการปรับโครงสร้างของกลุ่มจะส่งผลให้ผลการดำเนินงานของธนาคารลดลง แต่ในระยะยาวคาดว่าจะช่วยให้ผลการดำเนินงานของธนาคารมีเสถียรภาพมากขึ้น
TISCO มีผลการดำเนินงานขาดทุนจำนวน 0.4 พันล้านบาท ในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการรับรู้การขาดทุนจากการขายเงินลงทุนในตราสารทุนจำนวนสูงถึง 1.2 พันล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการในการปรับโครงสร้างของกลุ่ม ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของ TISCO ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4% ในปี 2551 จาก 3.4% ในปี 2550 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากต้นทุนทางการเงินที่ลดลงและการเติบโตของสินเชื่อที่มีระดับสูงถึง 23.3% ในปี 2551 สำหรับไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ผลการดำเนินงานของ TISCO ปรับตัวลดลงโดยธนาคารมีกำไรสุทธิลดลงเป็น 0.3 พันล้านบาท เทียบกับ 1 พันล้านบาท ในไตรมาสที่ 1 ปี 2551 โดยผลการดำเนินงานที่ลดลงส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้จากเงินลงทุนที่ลดลงอย่างมากของธนาคาร เนื่องจากธนาคารได้โอนเงินลงทุนทั้งหมดในบริษัทย่อยเดิมออกไปยังบริษัทโฮลดิ้ง สำหรับปี 2552 ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานของธนาคารอาจจะลดลง เนื่องจากผลกระทบจากการชะลอตัวของอัตราการเติบโตของสินเชื่อและการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่อาจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการซื้อสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์จากบริษัท ไพรมัส ลีสซิ่ง จำกัด และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ อาจช่วยลดผลกระทบดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง
แม้ว่าสินเชื่อส่วนใหญ่ของธนาคารยังคงเป็นสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ที่มีมูลค่า 73.1 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 หรือ 72.1% ของสินเชื่อรวม แต่สินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมก่อสร้างของธนาคารได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในปีที่ผ่านมาเป็น 8.8 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 จาก 5 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ TISCO ลดลงมาที่ 2.6 พันล้านบาท (หรือ 2.5% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นปี 2551 จาก 3.2 พันล้านบาท (หรือ 3.9% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นปี 2550 ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการตัดบัญชีของสินเชื่อ ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ TISCO ลดลงมาที่ 62.5% ณ สิ้นปี 2551 สำหรับไตรมาสที่ 1 ปี 2552 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ TISCO ยังคงทรงตัวอยู่ใกล้เคียงกับระดับเดิมที่ 2.6 พันล้านบาท (หรือ 2.5% ของสินเชื่อรวม) อัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของ TISCO ลดลงเป็น 10.2% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 เนื่องจากการซื้อสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์มูลค่า 4.9 พันล้านบาทจาก บริษัท ไพรมัส ลีสซิ่ง จำกัด และสินเชื่อของธนาคารที่เพิ่มขึ้นประมาณ 5% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2552
ติดต่อ
พชร ศรายุทธ, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4755