ศ.ดร.อุดม ทุมโฆสิต ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาและพัฒนาการปกครองท้องถิ่น คณะรัฐประศาสน-ศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (GSPA นิด้า) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐประศาสนศาสตร์ ได้รับการประสานจากสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ให้ดำเนินการจัดประชุมวิพากษ์ร่างกฎหมายการปกครองท้องถิ่น 4 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ร.บ.รายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่นนั้น ปรากฏว่าจากการหารือครั้งล่าสุด ซึ่งมีผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่น ผู้ทรงวุฒิ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในด้านกฎหมายท้องถิ่นมีความสนใจเข้าร่วมหารือเป็นจำนวนมาก และได้ข้อสรุปในการหารือเบื้องต้นเป็นที่น่าพอใจ
ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะให้ยกเครื่องปรับปรุงระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพจากระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศ สำหรับหลักการสำคัญที่จำเป็นต้องเร่งแก้ไขร่างกฎหมายการปกครองทั้ง 4 ฉบับนั้น ประการแรกต้องเน้นความเป็นเอกภาพในกลไกการปกครองท้องถิ่นทั้งหมด มีความเป็นอิสระในตัวเอง องค์กรปกครองท้องถิ่นมีรายได้เพียงพอต่อความจำเป็นในการให้บริการประชาชน ข้าราชการส่วนท้องถิ่นต้องมีความก้าวหน้าในสายอาชีพไม่น้อยกว่าข้าราชการประเภทอื่นๆ การกำกับดูแลท้องถิ่นต้องไม่ใช่การควบคุม ตลอดทั้งการส่งเสริมอุดหนุนกิจการท้องถิ่นต้องเปิดโอกาสและช่องทางให้ทุกกระทรวงทบวงกรม ได้มีช่องทางสะดวกในการสนับสนุนกิจการท้องถิ่นโดยตรง ไม่ใช่ผูกขาดไว้ที่กระทรวงมหาดไทย
ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาและพัฒนาการปกครองท้องถิ่น GSPA NIDA กล่าวด้วยว่า ในกระบวนการพิจารณาปรับปรุงข้อกฎหมายตามพ.ร.บ.นั้น ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับยังถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขดั้งเดิมมากมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองท้องถิ่นและพ.ร.บ.รายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับการวิพากษ์จากที่ประชุมเป็นอย่างมาก เพราะโครงสร้างการบริหารงานนั้นยังไม่ปลดปล่อยให้ท้องถิ่นเป็นอิสระอย่างแท้จริง พ.ร.บ.รายได้ท้องถิ่นจะต้องให้ความสำคัญต่อการให้อำนาจและพัฒนาความสามารถให้ท้องถิ่นมีรายได้ของตัวเอง ต้องทำให้ประชาชนรู้สึกว่าหากจ่ายภาษีให้ท้องถิ่นไปแล้วเงินจำนวนนั้นควรจะต้องกลับมาพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง โดยอาจให้อนุกรรมการกฎหมายท้องถิ่นได้ตรวจสอบและกำหนดดูว่ามีรายการภาษีอะไรบ้างที่ควรมอบอำนาจให้ท้องถิ่นและมอบอำนาจให้ท้องถิ่นจัดหารายได้ของตัวเองอย่างไรได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม ความเห็นส่วนใหญ่ของที่ประชุม เห็นพ้องว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการให้เข็มแข็ง เช่น เรื่องการกระจายอำนาจ การถ่ายโอนภารกิจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การผลักดันให้ส่วนราชการทุกกระทรวงร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมกิจการท้องถิ่นตามความเชี่ยวชาญ การปรับโครงสร้างส่วนบนให้มีเอกภาพยิ่งขึ้น การดูแลข้าราชการส่วนท้องถิ่นให้มีขวัญกำลังใจมากขึ้น การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงมากขึ้น เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้คาดว่าจะพยายามผลักดันข้อเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อพิจารณาภายในเดือนเมษายน หากไม่ทันช่วงดังกล่าว คณะกรรมการจะจัดทำร่าง พ.ร.บ.เพื่อเสนอในนามประชาชน โดยจะชักชวนประชานให้ร่วมแนบรายชื่อจำนวนสองหมื่นรายชื่อยื่นเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ทั้งนี้ มองว่า การที่แต่ละสมาคมมีสมาชิกและพลังความคิดจำนวนมาก ควรช่วยกันส่งเสริมผลักดันอย่างเต็มที่ เมื่อผ่านพ้นไปได้ ประชาชนก็จะได้ประโยชน์ที่คุ้มค่า
เผยแพร่ข่าวโดยบริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (ในนามคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า)
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม : พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป)
โทร. 02-248-7967-8 ต่อ 118
Email-address : [email protected] หรือ www.mtmultimedia.com