เตือนอาการ “ชา อ่อนแรงครึ่งซีก-พูดไม่ชัด-ปากเบี้ยว” เสี่ยงเป็นอัมพาตสูง แนะพบแพทย์ภายใน 180 นาที มีโอกาสหาย

พฤหัส ๐๗ พฤษภาคม ๒๐๐๙ ๑๐:๒๒
นักวิชาการพบ “โรคอัมพาตในคนอายุน้อย” ถี่ขึ้น!! เหตุวัยรุ่นสูบบุหรี่จัด เตือนอาการ “ชา อ่อนแรงครึ่งซีก-พูดไม่ชัด-ปากเบี้ยว” เสี่ยงเป็นอัมพาตสูง ย้ำ! อย่าวางใจให้รีบพบแพทย์ภายใน 180 นาที มีโอกาสหาย ขณะที่ 1 ใน 3 ของผู้ป่วย ที่ไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง เสี่ยงเป็นซ้ำภายใน 1 เดือน

รศ.นพ. สมศักดิ์ เทียมเก่า สาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ จัดเป็นมหันตภัยร้ายที่กำลังค่อยๆ คุกคามประชากรทั่วโลกอย่างเงียบๆ โดยหากดูจากสถิติจะเห็นได้ชัดว่ามีจำนวนตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มสูงมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2541 พบผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 1,241 รายต่อประชาการแสนคน ปี พ.ศ. 2547 พบผู้ป่วยในกลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไป มีตัวเลขสูงถึง 2,460 ราย ต่อประชากรแสนคน ไม่เพียงตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น แต่ประเด็นสำคัญคือพบผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งล่าสุดพบผู้ที่มีอายุ 25 ปี ก็สามารถเป็นอัมพาตอัมพฤกษ์ได้แล้ว อีกทั้งยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยสาเหตุหลักคือการสูบบุหรี่

“ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด แต่หากได้รับการรักษาที่ทันเวลา จะช่วยลดอัตราการพิการและการตายได้สูง ซึ่งกลุ่มอาการเสี่ยงที่พบ คือ แขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท จำไม่ได้ทันที เดินเซ ทรงตัวไม่ได้ และกลืนอาหารแล้วสำลัก โดยลักษณะของอาการมักจะเป็นขึ้นมาทันทีทันใด หรือเป็นหลังการตื่นนอน ทั้งนี้หากมีอาการดังกล่าวให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นอัมพาตและควรรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เนื่องจากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นจากก้อนเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดสมองตีบ หากผู้ป่วยได้รับยาสลายลิ่มเลือดได้เร็วเท่าใด อัตราการขาดเลือดของสมองจะน้อยลง ทำให้บริเวณของสมองที่ตายน้อยลง และมีโอกาสฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติได้สูง เพราะสมองส่วนที่กำลังขาดเลือดมาเลี้ยง เลือดจะกลับมาเลี้ยงดีขึ้น”

รศ.นพ. สมศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้มีผู้ป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้มาก คือความชะล่าใจ เพราะอาการเช่น ชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด มักจะเป็นขึ้นมาฉับพลันแล้วหายไป ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าเป็นความผิดปกติชั่วคราวซึ่งจะหายไปเอง จึงไม่รีบพบแพทย์ หรือกรณีผู้สูงอายุ มักจะรอให้ลูกกลับมารับไปพบแพทย์ ทำให้มาถึงโรงพยาบาลล่าช้า ไม่ทันการ ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะพิการหรือเสียชีวิตได้สูง ฉะนั้นทางที่ดีเมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ให้รีบไปพบแพทย์ หรือโทรเรียกหน่วยแพทย์กู้ชีวิต สำนักการแพทย์ (สนพ.) สายด่วน 1169 ทันที นอกจากนี้โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่ต้องมีการเฝ้าระวังและรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะโอกาสที่จะเป็นซ้ำมีสูงมาก โดยสถิติที่ผ่านมาพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่เป็นแล้วหายดี มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ภายใน 1 เดือน ดังนั้นการตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญที่สุด

อย่างไรก็ดี โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ผู้ป่วยต้องทนทุกข์ ทรมานและได้ผลกระทบทางจิตใจมาก ดังนั้นการให้กำลังใจถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ทั้งนี้สำหรับคำแนะนำดีๆที่จะช่วยป้องกันตนเองจากโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต คือ สามต้อง สี่ไม่ คือ ต้องตรวจสุขภาพทุกปี ต้องออกกำลังกาย ต้องรักษาโรคเบาหวาน ความดันสูง ไขมันสูง ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ไม่เครียด ไม่อ้วน ส่วนผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง แนะนำว่า ให้หากิจกรรมที่ให้ผู้สูงอายุได้ฝึกคิด เช่น การเล่นเกมง่ายๆ การร้องเพลง ก็จะช่วยผู้สูงอายุได้ผ่อนคลาย ฝึกพัฒนาสมอง ทำให้ไม่เครียด ชะลอการเสื่อมของสมอง ขณะเดียวกันยังช่วยบำบัดจิตใจและภาวะเครียดต่างๆให้คนรอบข้างด้วย รศ.นพ. สมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ