วันที่ 7 พฤษภาคม 2552 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ร่วมกับ กรมชลประทาน เปิดตัวโครงการ “เติมน้ำ เติมชีวิต ในพื้นที่โครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” โดยมี นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการ และรับฟังการบรรยายพิเศษ “แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” โดยเลขาธิการ กปร.และ อธิบดีกรมชลประทาน และการเสวนา เรื่อง “การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”
นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการดำเนินการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมต่างๆให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนการป้องกัน ความเสียหายอันเกิดจากน้ำ รวมทั้งการรับสนองงานพระราชดำริให้สำเร็จลุล่วง
งานชลประทาน นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างมากสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ในการช่วยให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการชลประทาน โดย มีพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2532 ความตอนหนึ่งว่า “ โครงการชลประทานต่างๆ ที่ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว ควรจัดการให้ราษฎรมีการใช้น้ำอย่างถูกวิธีและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเน้นให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันดำเนินการ ”
สำนักงาน กปร. จึงได้ร่วมกับกรมชลประทาน จัดทำโครงการเติมน้ำ เติมชีวิต ในพื้นที่โครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาองค์กรผู้ใช้น้ำชลประทาน ให้มีองค์ความรู้หรือกระบวนการเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ สร้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้น้ำหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง และเพื่อหารูปแบบการบริหารจัดการน้ำที่ดี ผ่านกระบวนการพัฒนาองค์กรผู้ใช้น้ำชลประทาน เพื่อสร้างเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำร่วมกันระหว่างองค์กรผู้ใช้น้ำชลประทานกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆอย่างบูรณาการ
โดยในปีนี้ได้นำร่อง โดยการคัดเลือกโครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในแต่ละภูมิภาคจำนวน 84 โครงการ ในพื้นที่ 9 จังหวัดประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.สกลนคร จ.มุกดาหาร จ.กาฬสินธุ์ จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.นราธิวาส และได้ตั้งเป้าที่จะดำเนินโครงการทั้ง 84 โครงการ ในช่วงระยะเวลา 3 ปี คือ ปี 2552 2553 และ ปี 2554 และจะนำความสำเร็จของโครงการ เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสที่มีพระชนม์มายุครบ 84 พรรษาในปี 2554 ซึ่งในการดำเนินโครงการนั้นจะมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในระดับจังหวัด เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน เป็นต้น และในขั้นตอนสุดท้ายจะทำการคัดเลือกโครงการที่มีการบริหารจัดการดีเด่นขึ้นมาเพื่อเป็นแบบอย่างในการบริหารจัดการน้ำให้กับแหล่งอื่นๆต่อไป
ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 กรมชลประทาน จะขยายผลการดำเนินงานในโครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อื่นๆ อีก จำนวน 340โครงการ ในพื้นที่ 17 จังหวัดทั่วประเทศ