เจ็บหน้าอก อาการที่รอช้าไม่ได้ อาการเจ็บหน้าอกอาจหมายถึงชีวิต หากไม่รีบส่งผู้ป่วยให้ถึงมือแพทย์

จันทร์ ๑๑ พฤษภาคม ๒๐๐๙ ๑๑:๓๙
ทุกครั้งที่มีคนบ่นว่าเจ็บหน้าอก หลายคนจะนึกถึงโรคหัวใจ แต่น้อยคนนักที่จะนึกต่อได้ว่าเกิดสถานการณ์วิกฤตเข้าแล้ว และต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด อันที่จริง สาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกอาจเป็นไปได้หลายประการ แต่ความเป็นไปได้ที่ร้ายแรงที่สุด คือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack) หรือที่เรียกกันว่า หัวใจวาย นั่นเอง

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจัดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของประชากรทั่วโลก สำหรับประเทศไทย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเป็น 1 ใน 3 สาเหตุของการเสียชีวิตสูงสุดใกล้เคียงกับการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ และโรคมะเร็ง

แม้อัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบซึ่งนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจะสูง แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเกิดอาการแล้ว ผู้ป่วยจะต้องเสียชีวิตเสมอไป สิ่งที่จะ “ชี้เป็นชี้ตาย” ในสถานการณ์วิกฤตนี้คือผู้ป่วยถึงมือแพทย์ได้เร็วเพียงใด

แต่ปัญหาคือ โดยมากผู้ป่วยและคนรอบข้างมักไม่ทราบว่าควรทำอย่างไร และอาการเจ็บหน้าอกนั้นร้ายแรงถึงชีวิตเสมอไปหรือไม่ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและสัญญาณเตือนต่าง ๆ บทความนี้มีคำแนะนำจาก นพ.วิสุทธิ์ วิเวกาภิรัต อายุรแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มาฝากกัน

รู้จักกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

สาเหตุที่สำคัญของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เนื่องจากมีไขมันสะสมเพิ่มพูนขึ้นภายในผนังหลอดเลือด เมื่อเวลาผ่านไป ไขมันที่สะสมอยู่จะรวมตัวกันมากขึ้นจนเป็นแผ่นหนา ส่งผลให้หลอดเลือดที่ปกติจะสามารถยืดหดได้ตามความดันโลหิต สูญเสียความยืดหยุ่นและเสี่ยงต่อการปริแตกได้ง่าย ทั้งนี้ เมื่อเกิดความผิดปกติต่าง ๆ ขึ้นกับหลอดเลือด หากไม่ระวังดูแลตัวเองให้ดี อาจนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันในที่สุด

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน และมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของหลอดเลือดแดงซึ่งไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ “ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมักจะเกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดแดงโคโรนารี (Coronary Artery) เกิดการอุดตันอย่างฉับพลันจนไม่สามารถส่งผ่านเลือดไปยังกล้ามเนื้อหัวใจได้ กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนจะเริ่มตาย หากไม่รีบเปิดทางเดินของหลอดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจจะถูกทำลายมากขึ้น และหัวใจก็จะหยุดทำงานในที่สุด นพ.วิสุทธิ์ วิเวกาภิรัตอธิบาย

“เมื่อเส้นทางลำเลียงเลือดภายในหลอดเลือดแคบลง เนื่องจากมีไขมันเกาะตัวหนาอยู่บริเวณผนังหลอดเลือด ในขั้นเริ่มแรก ผู้ป่วยจะไม่มีอาการอะไรแสดงออกมา แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลอดเลือดหัวใจตีบลงมากขึ้น ผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการเจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเมื่อออกแรง ออกกำลังกาย หรือทำอะไรรีบ ๆ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อลำเลียงเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ให้เพียงพอนั่นเอง” นพ.วิสุทธิ์ วิเวกาภิรัตกล่าวต่อ

อย่ารอช้าเมื่อมีสัญญาณเตือน

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันนั้น อาจเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้โดยมีอาการแตกต่างกันออกไปในแต่ละราย ซึ่งอาอาการบอกเหตุของผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายที่สามารถสังเกตได้มีดังนี้

- เจ็บแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรหนัก ๆ มากดทับ

- จุกแน่นหรือแสบบริเวณลิ้นปี่

- หายใจสั้น หอบ

- อาจมีอาการเจ็บร้าวที่บริเวณแขน คอ ไหล่ และกราม

- เหงื่อออกท่วมตัว

- คลื่นไส้ หน้ามืด ใจสั่น

“อาการเจ็บแน่นหน้าอกถือว่าเป็นอาการนำของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งโดยมากมักจะเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น เหงื่อออก หายใจหอบ ปวดร้าวไปที่แขนข้างเดียว หรือทั้งสองข้างไปจนถึงคอ และกราม” นพ.วิสุทธิ์ วิเวกาภิรัตเล่า “ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณ 20 ถึง 30 นาที แต่ถ้าหากมีอาการอยู่ตลอดต้องถือว่าเป็นสัญญาณวิกฤตของอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ตอนนี้ ผู้ป่วยต้องรีบไปพบแพทย์ หรือเรียกรถฉุกเฉินไปโรงพยาบาลทันที หรือภายใน 4 ชั่วโมง”

สาเหตุที่ต้องส่งผู้ป่วยให้ถึงแพทย์โดยเร็วนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟู ทำการรักษาให้เลือดไหลกลับไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจโดยเร็วที่สุด นพ.วิสุทธิ์ วิเวกาภิรัต เสริมว่า “เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อส่วนหนึ่งจะเริ่มตาย และเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจตายแล้วก็ไม่สามารถฟื้นฟูหรือสร้างใหม่ได้ ดังนั้น ถ้าสามารถปกป้องกล้ามเนื้อหัวใจมิให้ถูกทำลายได้มาก โอกาสรอดชีวิตก็มีสูง”

สาเหตุใหญ่ที่ผู้ป่วยตัดสินใจมาโรงพยาบาลช้ามักเกิดจากความไม่แน่ใจว่าใช่อาการเตือนหรือไม่ หรือคิดว่าเป็นโรคอื่น รวมทั้งเกรงว่าจะ “ขายหน้า” หากไม่ได้มีอาการขั้นวิกฤตจริง “การนำผู้ป่วยมาส่งแพทย์ทันทีมีแต่ได้ประโยชน์ เพราะแม้ผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤตจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แพทย์ก็จะสามารถวินิจฉัยได้ว่าอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร ในบรรดาผู้ที่เสียชีวิตด้วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ราว ๆ ร้อยละ 50 เสียชีวิตภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังเกิดอาการ เพราะฉะนั้นทั้งผู้ป่วย และคนรอบข้างจำเป็นต้องทราบว่าอาการใดที่เป็นสัญญาณเตือนบ้าง แม้แต่เพียงสงสัยก็ไม่ควรรอช้า” นพ.วิสุทธิ์ วิเวกาภิรัต ย้ำ

เมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล แพทย์จะทำการแก้ไขการอุดตันของหลอดเลือด ซึ่งทำได้โดยการใช้ยา หรือทำบอลลูนขยายหลอดเลือด หรือทั้ง 2 วิธีควบคู่กัน ระหว่างที่เกิดอาการอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน คืออาการหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง หรือ Ventricular Fibrillation ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาโดยเร็วนั้น อาจทำให้เสียชีวิตได้ทันที

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันอาจไม่ได้หมายถึงชีวิตเสมอไป หากคุณทราบ เข้าใจและรับมือได้ทันท่วงที ความรู้เท่าทันของคุณ อาจช่วยชีวิตคนใกล้ชิด หรือแม้แต่ตัวคุณเองไว้ได้

ข้อมูลจากศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0 2667 2000

สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่แผนกประชาสัมพันธ์

โทร 0 2667 2212 e-mail: [email protected]

www.bumrungrad.com

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ