TMB ขาย NPLs และ NPAs 19,800 ล้านบาทให้ บสก.

จันทร์ ๑๑ พฤษภาคม ๒๐๐๙ ๑๕:๕๗
TMB บรรลุข้อตกลงในการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) ของธนาคาร และบริษัท บริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด (PAMC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย มูลค่ารวม 19,800 ล้านบาท ให้แก่ บริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.)

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB เปิดเผยว่า การขาย NPLs และ NPAs ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานของธนาคารในการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ NPL ซึ่งทั้งสองหน่วยงานสามารถบรรลุข้อตกลงในการขาย NPLs และ NPAs มูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 19,800 ล้านบาทได้สำเร็จ โดยจำแนกเป็นยอดเงินต้นคงค้างของสินเชื่อรายใหญ่ประมาณ 6,000 ล้านบาท สินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อมประมาณ 6,500 ล้านบาท สินเชื่อรายย่อยประมาณ 2,000 ล้านบาท และ NPAs ที่มีราคาประเมินรวมประมาณ 5,300 ล้านบาท

ทั้งนี้ NPLs ที่จะขายทั้งหมดเป็น NPLs ที่อยู่ภายใต้การบริหารของธนาคารจำนวน 3,730 ราย ส่วน NPAs เป็นทรัพย์สินของธนาคารจำนวน 750 รายการ และ PAMC จำนวน 477 รายการ ซึ่งหากหักยอดสินเชื่อด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายที่ตกลงขายครั้งนี้ออก อัตราส่วนของ NPLs ของธนาคารตามงบการเงินรวม (Consolidated) จะคงเหลือร้อยละ13.2เทียบจากร้อยละ 16.0 ของไตรมาสแรกปี 2552 และอัตราส่วนของทรัพย์สินรอการขายต่อสินทรัพย์รวมจะคงเหลือร้อยละ2.1 จากร้อยละ 2.8 ของไตรมาสแรกปี 2552 โดยธนาคารมีเป้าหมายที่จะลดสัดส่วนของ NPLs ให้เป็นตัวเลขหลักเดียวในอนาคต

“การดำเนินการในการขายครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานของ TMB ในการพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์โดยการแก้ไขปัญหา NPLs ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อและป้องกันการเกิด NPLs ในอนาคต ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันเช่นนี้ ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้และสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้มากขึ้น” นายบุญทักษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 2551 ธนาคารได้บรรลุข้อตกลงในการขาย NPLs จำนวนหนึ่งซึ่งเป็น NPLs ในส่วนของธนาคารให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) โดย NPLs ดังกล่าวมียอดเงินต้นคงค้างประมาณ 3,400ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อม และการขายในครั้งนั้น เป็นส่วนหนึ่งของแผนการเดียวกันกับการขาย NPLs และ NPAs ในครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ ในการขาย NPLs และ NPAs ครั้งนี้ ธนาคารได้แต่งตั้งบริษัท เบเคอร์ ทิลลี่ คอร์ปอเรท แอ็ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัท แอลเอส ฮอไรซัน จำกัด เป็นที่ปรึกษากฎหมายสำหรับการดำเนินงานในโครงการนี้ เพื่อให้เกิดความพร้อมและสมบูรณ์ในทุกๆด้าน ทั้งในด้านกระบวนการขายและขั้นตอนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกรายการลูกหนี้หรือทรัพย์สิน การคัดเลือกกลุ่มนักลงทุนเพื่อเชิญเข้าร่วมการประมูล การจัดเตรียมข้อมูลเอกสาร ตลอดจนการกำหนดขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการขาย

ด้านนายบรรยง วิเศษมงคลชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า จากการที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มีนโยบายให้ บสก. เป็นช่องทางในการรับซื้อรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคารพาณิชย์เข้ามาบริหารจัดการมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมานั้น ในส่วนที่ บสก. รับซื้อจาก TMBถือว่าเกินเป้าหมายแล้ว แต่ บสก. ก็พร้อมที่จะรับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารจัดการต่อไป เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น

ทั้งนี้ภายหลังจากที่ บสก. รับซื้อรับโอน NPLs และ NPAs ของ TMB เข้ามาบริหารจัดการแล้ว ในขั้นตอนต่อไป บสก.จะมีหนังสือแจ้งให้ลูกค้ารับทราบ เพื่อเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ โดยพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเป็นหลัก และมุ่งเน้นวิธีการเจรจาประนีประนอมเพื่อหาข้อยุติที่ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย แม้จะเป็นหนี้ที่อยู่ในระหว่างการฟ้องร้องบังคับคดี บสก. ก็เปิดโอกาสให้ลูกค้ากลับมาเจรจาประนอมหนี้ได้ใหม่ โดยมีเป้าหมายช่วยลูกหนี้ให้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ และส่งกลับคืนระบบเศรษฐกิจตามปกติต่อไป

ขณะที่ทางด้าน NPA เมื่อได้รับโอนมาเป็นกรรมสิทธิ์แล้ว บสก.จะเร่งดำเนินการในเรื่องการจัดทำรายการและทะเบียนควบคุมทรัพย์สินรอการขาย พร้อมทั้งออกสำรวจ ตรวจสอบสภาพทรัพย์ และติดป้ายประกาศ รวมทั้งมีการปรับปรุงและพัฒนาทรัพย์ที่มีศักยภาพให้เป็นบ้านพร้อมอยู่ ที่ดินพร้อมใช้ เพื่อให้เป็นทรัพย์มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด

ปัจจุบัน บสก. มี NPL จำนวน 225,042 ล้านบาท หรือคิดเป็น 97.65% เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินที่มีอยู่จำนวน 230,451 ล้านบาท และมี NPA ที่อยู่ในความดูแลจำนวน 37,150 ล้านบาท หรือคิดเป็น 25.17% เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินที่มีอยู่จำนวน 147,572 ล้านบาท โดยในปีนี้ บสก. พร้อมที่จะรับซื้อรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารจัดการอีก 50,000 ล้านบาท

ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)

ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ และประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ วาณิชธนกิจและธุรกิจอื่นๆ เช่น การเป็นตัวแทนจำหน่ายประกัน

ธนาคารมุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าประเภทต่างๆ ผ่านเครือข่ายสาขารวมทั้งสิ้น 474 สาขา สำนักงานแลกเปลี่ยนเงิน 106 แห่ง เครื่องเอทีเอ็มจำนวน 2,014 เครื่อง รวมทั้งให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ

ธนาคารทหารไทย เป็นธนาคารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีสินทรัพย์รวม 601,379 ล้านบาท

(ณ วันที่ 31 มี.ค. 52) นับเป็นธนาคารที่มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิเป็นอันดับหกในระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย

www.tmbbank.com

ธนาคารทหารไทย: ร่วมคิด เพื่อทุกก้าวของชีวิต

TMB Bank: Better Partner, Better Value

สำนักสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร

โทร. 02 299 1953 / 02 242 3253 / 02 242 3260

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ