รศ. นพ.สมพงษ์ สุวรรณวลัยกร รองผู้อำนวยการ(ฝ่ายบริการ) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และอาจารย์สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม เปิดเผยถึง ภัยของโรคเนื้องอกของต่อมใต้สมองผิดปกติ(Acromegaly) ว่า โรคเนื้องอกของต่อมใต้สมองผิดปกติ เกิดจากความผิดปกติของเนื้องอก ที่ได้สร้างฮอร์โมนชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า โกรธฮอร์โมน (Growth Homone) ซึ่งผลิตขึ้นมามากกว่าคนปกติทั่วไป โดยโรคนี้ปกติจะไม่ค่อยพบบ่อยมากนัก เทียบเป็นอัตราส่วน 1 ต่อหลายแสนคน แต่สำหรับในประเทศไทยนั้นพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากว่าระบบการแพทย์ของไทยในปัจจุบัน ดีขึ้นกว่าในอดีตมาก มีการร่วมมือกันระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ และแพทย์ระบบทางเดินทางประสาทในการวินิจฉัยและรักษา ทำให้ค้นพบผู้ที่เป็นโรคนี้เพิ่มมากขึ้น อย่างต่อเนื่อง
รศ.นพ.สมพงษ์ กล่าวว่า อาการของโรคเนื้องอกของต่อมใต้สมองผิดปกตินั้น ขึ้นอยู่กับการตรวจพบและการวินิจฉัยของโรคว่า ผู้ป่วยเป็นโรคนี้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่ หากเป็นตั้งแต่เด็ก ๆ ความสูงจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เฉลี่ยปีละ 10-15 เซนติเมตร ส่วนใหญ่ผู้ปกครองมักจะพาบุตรหลานมารักษา ก็จะสูงเกือบ 2 เมตรแล้ว ทำให้โอกาสที่จะรักษาหายมีน้อยมาก สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ในช่วงผ่านการเป็นวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ไปแล้ว การเจริญเติบโตด้านความสูง จะไม่เพิ่มขึ้น แต่สรีระทางร่างกายจะเปลี่ยนไป เช่น หน้าตาจะเปลี่ยนไป คิ้วจะโหนกขึ้น จมูกจะใหญ่ขึ้น คางจะขยาย ปากใหญ่ขึ้น คางจะยื่น ฟันห่าง มือเท้าจะใหญ่หยาบกร้าน เสียงพูดจะเปลี่ยนไป ลิ้นคับปาก และอายุไม่ยืน ส่วนระบบร่างกายภายใน อาทิ หัวใจและตับ จะโตมากขึ้น ข้อจะเสื่อมเร็ว หลังโก่ง นอกจากนี้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ จะเป็นโรคอื่น ๆ ตามมา เช่นโรคเบาหวาน โรคหัวใจโต อาจหัวใจวายและเสียชีวิตได้
โดยปกติโรคนี้ หากรักษาแต่เนิ่น ๆ สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ ในตอนท้าย ๆ ของโรค ทำให้การรักษายากมากขึ้น และโอกาสที่จะหายขาดมีน้อย สำหรับวิธีการรักษามีหลายวิธี หากพบเนื้องอกมีขนาดเล็ก หรือพบแต่เนิ่น ๆ จะรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด กรณีที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่มาก ไม่สามารถผ่าตัดออกได้หมด (ประเทศไทยมักจะพบถึง 9 ใน 10 คน ขนาดของเนื้องอกประมาณ 5-6 เซนติเมตร ซึ่งเนื้องอกจะไปกดเบียดบริเวณประสาทตา ทำให้ตาบอดได้) วิธีที่ 2 คือการฉายแสง วิธีการรักษาลักษณะนี้ไม่แนะนำ เนื่องจาการฉายแสง จะไปทำลายเนื้องอกตายลงก็จริง แต่ก็จะทำลายเซลล์ดีๆ ตายไปด้วย ซึ่งส่งผลกับเรื่องของฮอร์โมนเพศ และฮอร์โมนชนิดอื่น ๆ ซึ่งเป็นวิธีทางเลือกสุดท้ายที่ใช้กัน
ปัจจุบันการรักษาโรคเนื้องอกของต่อมใต้สมองผิดปกติ(Acromegary) จะนิยมใช้วิธีการรักษาโดยการฉีดยา ซึ่งจะสามารถต้านการสร้างฮอร์โมนที่ผิดปกติ ได้ และพบว่าเมื่อใช้ยาฉีดฮอร์โมนชนิดนี้ จะทำให้เนื้องอก มีขนาดเล็กลงได้ แต่ไม่ได้หายขาด ซึ่งการรักษาด้วยยาจะช่วยทำให้เนื้องอกมีขนาดเล็กลง สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของเนื้องอกให้ผู้ป่วยรู้สึกบรรเทาและมีชีวิตเหมือนคนปกติได้
“อยากให้สังเกตคนที่เป็นโรคนี้ ปัจจัยที่เห็นได้ชัดคือ ความสูงที่เพิ่มขึ้น หากในช่วงวัยเด็ก จนถึงวัยรุ่น มีความสูงที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 10 เซนติเมตรต่อปี ขึ้นไป ต้องไปตรวจหาความผิดปกติ และให้สังเกตอีกจุดหนึ่งคือ นิ้วมือจะใหญ่หนา ส้นเท้าจะใหญ่ ฝ่าเท้าจะยืดผิดปกติ ใบหน้าจะเปลี่ยนไป คางจะโต โหนกคิ้ว สันจมูก ยาวขึ้น โหนกแก้ม ฟันจะห่าง ลิ้นจะใหญ่ ลิ้นคับปาก เลย โดยคนไข้เหล่านี้ เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคนี้ จะต้องนำเอารูปเก่ามาดูเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงของตนเอง”
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ฝ่ามือจะใหญ่ หยาบ เป็นคนตัวใหญ่ ล่ำ ๆ เสียงจะเปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายจะช้ามาก จึงต้องควรสังเกตตัวเอง มีวิธีสังเกตง่าย ๆ เช่น แหวนที่เคยใส่อยู่คับไปต้องเปลี่ยนวง หรือเปลี่ยนเบอร์รองเท้าบ่อยๆ ซึ่งไม่ควรจะเกิดในผู้ใหญ่ เป็นต้น ซึ่งแพทย์หลายท่าน สามารถตรวจได้ โดยตรวจดูจากโครงกระดูก และอวัยวะภายใน ว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากเกิดความสงสัย ว่าเป็นโรคนี้ ใช้วิธีการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนซึ่งสามารถทดสอบได้ง่าย ๆ
หากเนื้องอก ไปโดนในส่วนของฮอร์โมนไทรอยด์ ก็จะเฉื่อย ชา ทำงานช้า ขี้หนาว ท้องผูก หากเนื้องอกลุกลามไปที่ต่อมฮอร์โมนเพศ จะทำให้ขาดฮอร์โมนเพศ ซึ่งจะมีความผิดปกติทางเพศ ซึ่งจะไม่มีลักษณะของผู้หญิงหรือผู้ชาย ผู้หญิง ก็จะไม่มีประจำเดือน ผู้ชายก็ไม่มีความรู้สึกทางเพศ แต่จะตัวสูง แต่ต่อมทางเพศถูกทำลายหมดแล้ว หรือหากเนื้องอกไปกดทับฮอร์โมน ที่เรียกว่า สเตอรอยด์ ก็จะไม่มีแรง ลุกนั่งก็จะเป็นลม น้ำตาลต่ำและเกิดโรคภาวะแทรกซ้อน อื่น ๆ ตามมา เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น
สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่ม กรุณาติดต่อ
คุณธนศักย์ อุทิศชลานนท์ และคุณศรีสุพัฒ เสียงเย็น
ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด
โทรศัพท์ 0-2439-4600 ต่อ 8202 หรือ 081-421- 5249
อีเมล์: [email protected]