วันนี้ (13 พ.ค.52) นายวิรัช กาญจนพิบูลย์ รองผู้ว่าการกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษกการไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ มีมติเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 อนุมัติในข้อตกลงการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านโครงการหงสาลิกไนต์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (Tariff MOU) การรับซื้อไฟฟ้าโครงการหงสาลิกไนต์ ระหว่างคู่สัญญา คือ นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการ กฟผ. กับ นายชนินทร์ ว่องกุศลกิจ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (บริษัท บ้านปูฯ) และนายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (มหาชน) (บริษัท ราชบุรีฯ) ในฐานะผู้ได้รับสิทธิในการพัฒนาโครงการฯ (Project Development Agreement : PDA) จาก สปป.ลาว ในวันนี้ (วันที่ 13 พ.ค. 52) เวลา 16.45 น. ณ กระทรวงการต่างประเทศ ในโอกาสที่ ฯพณฯ ดร.ทองลุน สีสุลิด รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
นายวิรัช กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในด้านความร่วมมือด้านพลังงานในภูมิภาค ซึ่งจะทำให้ประชาชนของทั้งสองประเทศได้รับประโยชน์ร่วมกัน โดยในการดำเนินการเจรจาเป็นไปตามกรอบเงื่อนไขของคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศ เพื่อนบ้าน ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานฯ และมีผู้แทนจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กฟผ. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งเมื่อคณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบแล้ว ได้มีการนำเสนอให้ กพช. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พิจารณาอนุมัติ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
“คณะอนุกรรมการฯ ได้ใช้หลักการดำเนินการดังเช่นที่ผ่านมา คือ พิจารณาคัดเลือกจากราคาและความพร้อมสำหรับประเทศไทย และประเทศนั้นๆ โดยการเจรจาเป็นลักษณะ Direct Negotiation คือ ไม่มีการเปิดประมูล ซึ่งแตกต่างจากการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ในประเทศ ที่มีการเปิดซองประมูลโดยพร้อมเพรียงกัน” โฆษก กฟผ. กล่าว
สำหรับโครงการหงสาลิกไนต์ เป็นโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินใน สปป.ลาว ที่มีการร่วมทุนระหว่าง บริษัทบ้านปูฯ บริษัท ราชบุรีฯ และรัฐวิสาหกิจผลิตไฟฟ้าลาว โดยมี กฟผ. จะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว ซึ่งมีกำลังผลิตขนาด 1,473 เมกะวัตต์ ในราคารับซื้อเฉลี่ย 2.275 บาทต่อหน่วย อายุสัญญา 25 ปี โดยเริ่มขายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2558 ซึ่งเป็นไปตามที่ กพช. พิจารณาและให้ความเห็นชอบ