ดร.อภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาสแรกของปี 2552 ว่า EXIM BANK ได้อนุมัติวงเงินใหม่สำหรับสินเชื่อและรับประกันการส่งออกเพื่อสนับสนุนแก่ผู้ส่งออกและนักธุรกิจไทยจำนวนทั้งสิ้น 5,434 ล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 มียอดคงค้างเงินให้สินเชื่อจำนวน 48,028 ล้านบาท และภาระผูกพันประกันการส่งออกจำนวน 12,539 ล้านบาท นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 EXIM BANK ได้เปิดบริษัท ไทย เอ็กซิม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด สาขาแรกที่กรุงมอสโก รัสเซีย เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและช่วยให้ผู้ส่งออกไทยมั่นใจที่จะเริ่มต้นหรือขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่เพิ่มมากขึ้น
ปี 2552 EXIM BANK ได้รับการอนุมัติการเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลังจำนวน 5,000 ล้านบาทในการรองรับ “บริการประกันการส่งออก (EXIMSurance)” เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงให้แก่ผู้ส่งออกไทยจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศท่ามกลางภาวะวิกฤตการเงินโลก การดำเนินมาตรการดังกล่าวนี้ EXIM BANK ได้ร่วมกับกระทรวงการคลังและสถาบันการเงิน 10 แห่งประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) ธนาคารออมสิน และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ลงนามในบันทึกความร่วมมือภายใต้บริการประกันการส่งออกผ่านสถาบันการเงิน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยซึ่งเป็นลูกค้าของสถาบันการเงินนั้นๆ สามารถเข้าถึงบริการประกันการส่งออกของ EXIM BANK ได้สะดวกขึ้นโดยติดต่อผ่านสถาบันการเงินที่ตนเองมีธุรกรรมอยู่ ทั้งยังมีโอกาสได้รับการขยายสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกรมธรรม์ประกันการส่งออกของ EXIM BANK ถือเป็นหลักประกันประเภทหนึ่งที่สามารถโอนสิทธิการรับค่าชดเชยสินไหมทดแทนให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้ได้
พร้อมกันนี้ EXIM BANK ได้เปิดบริการใหม่ “เอ็กซิมฟอร์เอสเอ็มอี” (EXIM 4 SMEs) ซึ่งเป็นบริการประกันการส่งออกที่จะช่วยให้ผู้ส่งออก SMEs ที่มีมูลค่าการส่งออกไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปีมีความมั่นใจที่จะเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจส่งออกไปยังตลาดการค้าเดิมหรือตลาดใหม่เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าวิกฤตการเงินโลกจะส่งผลให้ความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม โดย EXIM BANK จะช่วยกลั่นกรองข้อมูลผู้ซื้อและประเมินความสามารถในการชำระเงินของผู้ซื้อในต่างประเทศ รวมทั้งช่วยให้ผู้ส่งออกไทยสามารถเสนอเงื่อนไขการชำระเงินที่แข่งขันได้ ในกรณีที่ส่งสินค้าไปยังผู้ซื้อแล้วแต่ไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า EXIM BANK จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้สูงสุดถึง 90% ของความเสียหายที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน EXIM BANK ขยายความร่วมมือกับ SME BANK และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในการสนับสนุนด้านสินเชื่อและบริการให้แก่ผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการอย่างครบวงจร
ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2552 EXIM BANK มีกำไรสุทธิ 75 ล้านบาท มีสินทรัพย์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 จำนวน 57,546 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของเงินให้สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับ 48,432 ล้านบาท