ททท. ปั้นแพ็กเกจท่องเที่ยวอีสาน ชูจุดขายดินแดนศรีโคตรบูรณ์ ในเส้นทาง “ตามรอยพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์แห่งอีสาน”

พฤหัส ๑๔ พฤษภาคม ๒๐๐๙ ๑๒:๑๘
ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ททท. จับมือ 4 สมาคมท่องเที่ยวภายในประเทศ เสนอเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ “ตามรอยพระอาจารย์ มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์แห่งอีสาน” เที่ยวอิ่มบุญ อุ่นใจ ได้ทุกฤดูกาล

นางอรุณศรี ศรีเมฆานนท์ ศาสตรานิติ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมมือกับสมาคมท่องเที่ยวภายในประเทศ 4 แห่ง ได้แก่ สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย (สนท.) และสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) จัดทำเส้นทางตามรอย “พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต” บูรพาจารย์แห่งอีสาน โดยจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่นักท่องเที่ยว 5 เส้นทาง เพื่อเป็นแนวคิดในการเดินทางท่องเที่ยวตามเส้นทางตามรอยพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์แห่งอีสาน

“ททท. ได้จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวดังกล่าว โดยใช้หลักแนวคิด Slow Travel คือ เป็นการท่องเที่ยวในมิติของการเรียนรู้ โดยนักท่องเที่ยวสามารถศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ในเส้นทางดังกล่าวนักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถศึกษาหลักธรรมคำสอนของท่าน ตลอดจนสามารถน้อมนำมาใช้ในการปฏิบัติภาวนาในชีวิตประจำวันได้ โดยเส้นทางดังกล่าว เริ่มจากบ้านเกิด สถานที่บรรพชาเป็นพระภิกษุ การเดินทางสั่งสอนศิษยานุศิษย์ การสร้างบุญบารมีธรรม วัดที่จำพรรษา สถานที่นั่งวิปัสสนากรรมฐาน และสถานที่ที่ท่านมรณภาพ รวมไปถึงสถานที่ที่ที่เกี่ยวข้องพระเกจิอาจารย์ ตลอดจนลูกศิษย์ของท่าน อาทิ วัดศรีทอง วัดป่าสุทธาวาส วัดป่าภูริทัตตถิราวาส วัดถ้ำจำปา ฯลฯ

โดยคุณค่าของการเดินทางตามเส้นทางนี้นั้น มิได้เพียงเพื่อการกระตุ้นสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีคุณค่าในมิติเชิงสังคมอีกด้วย เนื่องจากแต่ละแหล่งท่องเที่ยวที่ได้ไปเยี่ยมเยือนตามเส้นทางดังกล่าวนั้น สะท้อนถึงวิถีชีวิต และหลักธรรมที่เกจิอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐานของเมืองไทยได้สั่งสอน และยึดเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิต ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้มีโอกาสสัมผัสกับเรื่องราวและหลักธรรมดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ ตลอดจนสามารถน้อมนำมาเป็นหลักยึดปฏิบัติในสภาวะที่บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย และความเครียดกังวลต่าง ๆ ทั้งจากสภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมได้” นางอรุณศรีกล่าว

ว่าที่ ร.ต. ดร. จุลสัน ทันอินทรอาจ นักวิชาการศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนา จ.มุกดาหาร ในฐานะของวิทยากรที่ได้ร่วมจัดทำเส้นทางตามรอยพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์แห่งอีสาน ร่วมกับทาง ททท. กล่าวว่า ในสมัยโบราณดินแดนบริเวณนี้มีชื่อเรียกว่า “อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์” ซึ่งเป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านามว่า “โคดม” ทั้งนี้ คำว่า “โคตรบูรณ์” มาจากโคตมโคดม ซึ่งมีความเชื่อสืบต่อมาว่า ดินแดนแห่งนี้พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาเยือนตั้งแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และตำนานอุรังคธาตุได้มีข้อความที่เกี่ยวข้องปรากฏ ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านทรงตระหนักว่าดินแดนแห่งนั้นมีความสมบูรณ์ไปด้วยพระศาสนา ท่านจึงส่งพระเกจิอาจารย์หลายรูปมาเกิดในดินแดนแห่งนี้ และเผยแผ่หลักธรรมคำสอนให้เป็นที่แพร่หลายในวงกว้างดังที่ปรากฏ

“เส้นทางท่องเที่ยวดังกล่าวถือว่ามีความน่าสนใจ เนื่องจากยังมีเรื่องราวและข้อมูลอีกมากเกี่ยวกับพระเกจิอาจารย์หลายท่านที่คนไทย หรือนักท่องเที่ยวยังไม่เคยรู้มาก่อน อย่างวัดถ้ำจำปา ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ท่านบรรลุอรหันต์ ซึ่งเมื่อนักท่องเที่ยวได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือน สามารถนั่งสมาธิยังลานวิมุตติธรรมดังกล่าว เพื่อให้เกิดความสงบร่มเย็นแก่จิตใจ ทั้งนี้ เส้นทางดังกล่าวจะสามารถเติมความรู้ให้แก่นักท่องเที่ยวในมิติต่าง ๆ ได้ ทำให้นักท่องเที่ยวได้ทั้งความอิ่มบุญ และอิ่มความรู้ไปในเวลาเดียวกัน”

นายสรศักดิ์ ตั้งประกิจ ประธานกรรมการท่องเที่ยว จ.มุกดาหาร กล่าวว่า ตนมีความยินดีที่ทาง ททท. ได้จัดทำเส้นทางดังกล่าว ซึ่งเป็นเส้นทางที่นำเสนอเอกลักษณ์อันโดดเด่นของภาคอีสาน อันจะเป็นการช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวภาคอีสานในอีกทางหนึ่งด้วย โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน การส่งเสริมการท่องเที่ยวควรกระตุ้นให้ไทยเที่ยวไทย อย่างการกระตุ้นให้คนเหนือมาเที่ยวใต้ คนใต้มาเที่ยวอีสาน ผู้ประกอบการสามารถประคองตัวและอยู่รอดได้ ในส่วนของผู้ประกอบการท่องเที่ยวของมุกดาหารนั้น ตนได้เสนอให้ทำผู้ประกอบการใน 3 จังหวัด คือ มุกดาหาร สกลนคร และนครพนมผนึกความร่วมมือกันในการจัดทำยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว 3 จังหวัด โดยทำแพ็กเกจให้เลือกในลักษณะใยแมงมุมเพื่อนำเสนอสู่ผู้บริโภค อาทิ เมื่อนักท่องเที่ยวมามุกดาหาร จะมีเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมต่อไปยังนครพนม และสกลนครด้วย ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจท่องเที่ยวให้แก่กัน

นอกจากนี้ นายสรศักดิ์ ยังได้กล่าวถึงเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดมุกดาหารว่า เมืองมุกดาหารเป็นเมืองการค้า รายได้ส่วนใหญ่ยังคงมาจากการค้า ซึ่งในอนาคตจะมีถนนสายเศรษฐกิจตะวันออกตะวันตก (East West Economic Corridor) ตามแผนการพัฒนาของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ซึ่งเมื่อถนนสร้างเสร็จ นักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจที่ต้องการเดินทางจากประเทศพม่า มายังประเทศเวียดนาม สามารถวิ่งผ่านถนนหมายเลข 9 ได้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งในตอนนี้ ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าสดทางรถยนต์จากจังหวัดมุกดาหารไปยังประเทศจีนทางรถยนต์ ใช้เวลาเพียง 2 วัน จากเดิมที่ต้องส่งทางเรือโดยใช้เวลา 15 วัน และในอนาคต ถนนสายดังกล่าวอาจเชื่อมต่อไปยังประเทศอินเดีย ประเทศจีน และทำให้ภาคอีสาน โดยเฉพาะในจังหวัดที่ถนนสายนี้ตัดผ่านเป็นถนนสายเศรษฐกิจในที่สุด

ทางด้าน นายประสาท ตงศิริ กรรมการอาวุโส หอการค้าจังหวัดสกลนคร เปิดเผยว่า ในมุมมองผม ผมเห็นด้วยกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในมิติของการเรียนรู้ โดยที่ยังไม่เน้นในเรื่องของการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว แต่ช่วยเสริมความพร้อมของคนในท้องถิ่นให้มีความเข้าใจตนเองก่อน ไม่ใช่การสนับสนุนให้สร้างสิ่งปลูกสร้างแข่งขันกัน ต่างคนต่างแข่งทำให้เมืองเติบโตอย่างไร้ทิศทาง ซึ่งในส่วนของจังหวัดสกลนครนั้น ยังมีเรื่องให้น่าตื่นเต้นอีกมากมาย แต่จะทำอย่างไรให้คนในจังหวัดรู้จักตัวตน และมองเห็นคุณค่าของตัวเองเป็นหลัก

การที่ ททท. มาจับเรื่องทัวร์ธรรมะ หลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา ถือว่ามาถูกทาง เพราะเป็นจุดเด่นของภาคอีสาน แต่ ททท. นำมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างเส้นทางตามรอยพระอาจารย์มั่น หรือเที่ยวชมคาทอลิก 2 Unseen ทำให้มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากขึ้น การเที่ยวอีสานต้องเน้นการท่องเที่ยวเที่ยวแบบศึกษาเรียนรู้ ไม่ใช่แค่ฉาบฉวย ซึ่งบุคคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องปรับ ตัว จังหวัดเองก็ต้องปรับตัว

นอกจากนี้ นายประสาท ยังสะท้อนถึงภาพรวมของการท่องเที่ยวจังหวัดสกลนครว่า นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดสกลนคร โดยเฉพาะในช่วงที่มีงานเทศกาลประเพณี แต่พอถึงช่วงเศรษฐกิจไม่ดี คนเราป่วยใจกันมากขึ้น ทำให้แนวโน้มการท่องเที่ยวที่เน้นศึกษาธรรมะสูงขึ้น จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาจังหวัดสกลนครเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากจังหวัดสกลนครมีเกจิอาจารย์หลายท่าน ทั้งนี้ ธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดสกลนคร เช่น ธุรกิจที่พัก โรงแรม ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้เข้าพักโรงแรมเป็นกลุ่มหน่วยงานราชการที่มีการจัดประชุมสัมมนา รวมถึงบริษัทต่างๆ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มากับทัวร์ธรรมะส่วนใหญ่ก็พักที่วัด แต่พอเศรษฐกิจไม่ดีกลุ่มนี้ก็เดินทางลดน้อยลง ธุรกิจท่องเที่ยวในสกลนครเองก็พลอยเงียบเหงาไปด้วย ทำให้ผู้ประกอบการในแวดวงท่องเที่ยวต้องปรับตัว ปรับกลยุทธ์ให้อยู่รอด แต่ผู้ประกอบการที่นี่เน้นตั้งรับมากกว่าไม่ค่อยมีแผนเชิงรุก

เบิ่งอีสาน อิ่มบุญ อุ่นใจ กับเส้นทางตามรอยพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์แห่งอีสาน ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่

โทร. 02 682 9880

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ