นายธรรมยศ กล่าว ปัจจุบันประเทศไทยมีการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตั้งด้วยระบบเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้า และการสนับสนุนให้ผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบบต่อเข้าระบบสายส่งผ่านมาตรการต่างๆ โดยเป้าหมายส่งเสริมการใช้งาน ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี ได้กำหนดให้มีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวม 500 MW และความร้อนรวม 38 ktoe ให้ได้ภายในปี 2565 ทั้งนี้ การส่งเสริมใช้งานเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย บุคคลากรยังขาดความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีของระบบ ในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ใช้งาน การออกแบบและการติดตั้งระบบให้สามารถใช้งานได้ตามที่กำหนด
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พพ. จึงได้ทำการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม(train-the-trainer) เพื่อเป็นต้นแบบหลักสูตรสำหรับพัฒนาบุคลากรด้านเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศไทย เพื่อเพิ่มความรู้ให้แก่ผู้ใช้งาน และการสร้างบุคคลากรให้เป็นช่างซ่อมระบบในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความยั่งยืนของระบบที่ถูกติดตั้ง โดยสามารถคิดเป็นมูลค่าได้ถึง 15,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเป็นการกระจายรายได้ให้แก่อาชีพช่างซ่อมระบบในพื้นที่คิดเป็นมูลค่า 2,000 ล้านบาท ภายใน 15 ปี
สำหรับรูปแบบของหลักสูตรจะแบ่งการอบรมได้เป็นทั้งระยะสั้นและการฝึกอบรมแบบต่อเนื่อง การอบรมระยะสั้นสำหรับผู้ที่มีความรู้เดิมอยู่ เช่น เทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับการยอมรับในเชิงพาณิชย์ การวิเคราะห์ประเมินทางเทคนิคของระบบ เพื่อติดตามผลของระบบ สำหรับการฝึกอบรมแบบต่อเนื่อง เป็นการอบรมแบบครบในทุกระดับ เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มทำงานในสายงานของธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์
“หลักสูตรนี้ พพ. ได้จัดทำขึ้นเป็นชุดแรกของประเทศไทย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ในประเทศไทย รวมทั้งได้รับข้อมูลและความเห็นจากบริษัทผู้ผลิต /ผู้จำหน่ายแผงเซลล์และอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่ง พพ. จะทำการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อนำไปใช้พัฒนาบุคลากรด้านพลังงานทดแทน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการติดตั้งและการใช้งานระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ให้สอดคล้องกับการส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี ต่อไป” นายธรรมยศ กล่าว