ตามที่กรมศุลกากรเร่งรัดปราบปรามสินค้าหนีศุลกากร ยาเสพติดให้โทษ สินค้าละเมิดสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา และสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี รวมทั้งปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม นายอุทิศ ธรรมวาทิน อธิบดีกรมศุลกากร ได้มอบหมายให้ นายสมชาย พูลสวัสดิ์ รองอธิบดีด้านปราบปราม เร่งรัดการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง โดยให้ นายราฆพ ศรีศุภอรรถ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและปราบปราม วางแผนจับกุมผู้กระทำความผิด จนกระทั่งสืบทราบว่า ได้มีการนำสินค้าลักลอบหนีศุลกากร สินค้าละเมิดสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา และสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เข้ามาในราชอาณาจักร และส่งออกไปนอกราชอาณาจักร เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงได้ตรวจค้นและจับกุม ดังนี้
- สินค้าละเมิดสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา ประเภท เครื่องสำอาง น้ำหอม กางเกงยีนส์ และสินค้าอื่น ๆ จำนวนประมาณ 25,000 ชิ้น จับกุมได้บริเวณริมถนนสาย 314 ต.บ้านบางพระ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-1733 สระแก้ว ราคารวมประมาณ 13 ล้านบาท
- สินค้าละเมิดสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา ประเภท รองเท้า เสื้อยืด กางเกงยีนส์ กระเป๋า แว่นตา เข็มขัด จำนวนประมาณ 13,000 ชิ้น จับกุมได้บริเวณริมถนนหน้าบริษัทขนส่ง พุทธมณฑลสาย 3 และบริเวณริมถนนไมตรีจิต เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ราคารวมประมาณ 16 ล้านบาท
- สินค้าละเมิดสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา ประเภท กระเป๋าเดินทาง ยี่ห้อ SAMSONITE จำนวนประมาณ 1,000 ใบ จับกุมได้ที่บ้านเลขที่ 671/10-11 สุขุมวิท 101/1 เขตบางนา กรุงเทพฯ ราคาประมาณ 5 ล้านบาท
- สินค้าประเภท สุรา ไวน์ จำนวน 2,600 ขวด และสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 ประเภท ครีมย้อมผม และสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 ประเภท อาหารเสริม จำนวนประมาณ 35,000 ชิ้น จับกุมได้บริเวณศูนย์ป้องกันและปราบปรามของศุลกากร ปราณบุรี ราคารวมประมาณ 8 ล้านบาท
- สินค้าพยายามลักลอบส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ประเภท CD/DVD ภาพยนต์ลามก เสื้อผ้าละเมิดสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท อาทิ ยาลดความอ้วน, สินค้ายุทธภัณฑ์ และยาเส้น จำนวนประมาณ 10,000 ชิ้น จับกุมได้บริเวณศูนย์ไปรษณีย์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ราคารวมประมาณ 1 ล้านบาท
กรณีดังกล่าวถือเป็นความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร และหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อกำกัดเข้ามาในราชอาณาจักร และพยายามลักลอบหนีศุลกากรออกไปนอกราชอาณาจักร อันเป็นความผิดตามมาตรา 27, 27 ทวิ แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 และมาตรา 16, 17 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482, พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537, พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534, พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522, พ.ร.บ. ปราบปรามการแพร่ภาพและค้าวัตถุลามก พ.ศ. 2471, พ.ร.บ. วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ. 2518, พ.ร.บ. ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530, พ.ร.บ. ยาสูบ พ.ศ. 2509 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ฯ จึงได้ยึดของกลางนำส่งกรมศุลกากรเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป