มูลนิธิแอมเวย์ฯ เดินหน้าโครงการ “One by One: เปิดโลกกว้างทางปัญญา” มอบหนังสือเสียงครั้งที่ 6 เพื่อผู้พิการทางสายตากว่า 8,700 แผ่น

อังคาร ๑๙ พฤษภาคม ๒๐๐๙ ๑๑:๔๖
มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทยเดินหน้าสานต่อโครงการ “One by One: เปิดโลกกว้างทางปัญญา” จัดงานมอบหนังสือเสียงครั้งที่ 6 เพื่อผู้พิการทางสายตา รวม 29 เรื่อง จำนวน 8,700 แผ่น ล่าสุดได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการนำหนังสือ “พระมหาชนก” มาจัดทำในรูปแบบหนังสือเสียง พร้อมจัดกิจกรรมชวนน้องดูหนังเรื่อง “ก้านกล้วย 2” ในรูปแบบเฉพาะของผู้พิการทางสายตา โดยนักพากย์ชื่อดังเป็นครั้งแรก

นายปรีชา ประกอบกิจ ประธานกรรมการมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย กล่าวว่า “มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทยได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนไทยที่ขาดแคลนมาอย่างต่อเนื่อง ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดได้ผลิตหนังสือเสียงภายใต้โครงการ “One by One: เปิดโลกกว้างทางปัญญา” เพื่อส่งมอบแก่เด็กและผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศ เป็นครั้งที่ 6 โดยครั้งนี้มูลนิธิแอมเวย์ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทั้งนักเขียนและสำนักพิมพ์ต่างๆ ในการมอบลิขสิทธิ์หนังสือรวม 29 เรื่อง เพื่อนำมาผลิตเป็นหนังสือเสียงในรูปแบบซีดีระบบเดซี่ รวมจำนวน 8,700 แผ่น โดยจะส่งมอบซีดีหนังสือเสียงทั้งหมดนี้ให้กับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการกระจายให้แก่หน่วยงานบริการผู้พิการทางสายตา 150 หน่วยงานทั่วประเทศ โดยเฉพาะครั้งนี้ มูลนิธิแอมเวย์ฯ รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการนำหนังสือ “พระมหาชนก” มาจัดทำในรูปแบบหนังสือเสียงเพื่อมอบ แก่เด็กและเยาวชนผู้พิการทางสายตาในครั้งนี้”

“นอกจากการมอบทุนการศึกษาต่อเนื่องให้กับเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และจัดสร้างห้องสมุดให้กับโรงเรียน ที่อยู่ห่างไกลแล้ว การมอบหนังสือเสียงในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยเปิดโลกกว้างทางปัญญาให้กับเด็กและเยาวชนผู้พิการทางสายตาซึ่งมีปัญหาทางการมองเห็น สามารถได้รับรู้ทั้งสาระและความบันเทิงผ่านหนังสือเสียงคุณภาพดีที่ผลิตขึ้นจากความร่วมมือและความตั้งใจดีของอาสาสมัครจำนวนมาก” นายปรีชากล่าว

“ในโอกาสอันดีนี้ มูลนิธิจึงจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อเปิดโลกกว้างทางปัญญากับทุกโสตประสาทของน้องๆ ทั้งการอ่าน การเล่า การฟัง และเพลิดเพลินไปกับจินตนาการขณะชมภาพยนตร์เรื่อง “ก้านกล้วย 2” ในรูปแบบเฉพาะของผู้พิการทางสายตา ซึ่งจะมีการพากย์เสียงเพิ่มเติมโดยคุณนันทนา บุญหลง นักแสดงมากฝีมือและนักพากย์ชื่อดัง นอกจากนี้ ในงานยังมีนิทรรศการและมุมหนังสือเสียงให้น้องฟัง เกม และกิจกรรมพิเศษต่างๆ เพื่อสร้างความสนุกสนานให้กับน้องๆ ทุกคนที่มาร่วมงาน” นายปรีชากล่าว

นายปรีชากล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบัน แอมเวย์ได้สร้างห้องบันทึกเสียงขนาดย่อม เพื่อรองรับอาสาสมัครที่ต้องการใช้เวลาว่างมาอ่านและบันทึกเสียง โดยผู้สนใจจะต้องมาสมัครเข้ารับการฝึกอบรมการอ่านหนังสือเสียงอย่างถูกต้องโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมูลนิธิแอมเวย์ฯ จะจัดการฝึกอบรมดังกล่าวทุกไตรมาส ปีละ 4 ครั้ง นอกจากนั้น มูลนิธิยังให้ความสำคัญกับขั้นตอนการตัดต่อและทำสำเนา เพื่อให้ได้หนังสือเสียงที่มีคุณภาพดี ส่งมอบแก่น้องๆ ผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศ”

“นอกเหนือจากการผลิตหนังสือเสียงคุณภาพสูงแล้ว มูลนิธิยังมีแผนงานที่จะสร้างและพัฒนาห้องสมุดสำหรับเด็กและเยาวชนผู้พิการทางสายตา เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ให้ทัดเทียมกับเด็กปกติทั่วๆ ไป ทั้งนี้ เพื่อให้ “หนังสือ” เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีศักยภาพ อันจะเป็นหนึ่งในพลังผลักดันให้เด็กไทยเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพของประเทศชาติต่อไป จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2550 พบว่ามี ผู้พิการทางสายตาจำนวนทั้งสิ้น 543,138 คน นอกจากนั้นยังพบว่า ถึงแม้จะเป็นเด็กที่พิการทางสายตา แต่น้องๆ ก็ต้องการไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เหมือนเด็กปกติ อาทิ ชอบดูทีวี โดยเฉพาะประเภทข่าว สาระความรู้ และความบันเทิงต่างๆ มีความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ เล่นอินเตอร์เน็ต เป็นต้น” นายปรีชากล่าว

นายปรีชากล่าวทิ้งท้ายว่า “มูลนิธิแอมเวย์ฯ ในฐานะองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อเด็กและเยาวชนไทย ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงริเริ่มการผลิตหนังสือเสียงมอบแก่เด็กและเยาวชนผู้พิการทางสายตามาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้รับความอนุเคราะห์ด้านลิขสิทธิ์หนังสือจากบรรดานักเขียนและสำนักพิมพ์ต่างๆ (ดังรายชื่อแนบ) ซึ่งทุกท่านล้วนเป็นผู้มีจิตกุศลและมีความตั้งใจดีในการช่วยเหลือเด็กๆ เป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากกรมประชาสัมพันธ์ที่กรุณาจัดสรรวิทยากรมืออาชีพมาเป็น ผู้ให้การฝึกอบรมการอ่านแก่อาสาสมัคร รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครทั้งจากสมาชิกและนักธุรกิจ แอมเวย์ในการร่วมถ่ายทอดเสียงลงในหนังสือเสียง รวมไปถึงบรรดาบุคคลที่มีชื่อเสียง นักเขียน และสื่อมวลชน ก็ได้ให้เกียรติร่วมเป็นอาสาสมัครอีกด้วย ปัจจุบัน มูลนิธิมีอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 650 ท่าน อาทิ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน คุณรอง เค้ามูลคดี คุณเนตรปรียา (มุสิกไชย) ชุมไชโย คุณสิริยากร พุกกะเวช คุณธิติมา ประทุมทิพย์ คุณมนตรี เจนอักษร เป็นต้น”

มูลนิธิแอมเวย์ฯ ได้ผลิตและส่งมอบหนังสือเสียงแล้ว 6 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 144 เรื่อง จำนวนกว่า 158,700 ชิ้น ทั้งในรูปแบบซีดีระบบเดซี่และเทปคาสเส็ทท์ อันประกอบด้วยหนังสืออันทรงคุณค่าแก่เยาวชนหลากหลาย สาขา อาทิ วรรณกรรมเยาวชน ความรู้ทั่วไป หนังสือธรรมะ โดยมีสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางผู้ดูแลผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศ เป็นตัวแทนรับมอบเพื่อนำไปจัดส่งต่อไปยังโรงเรียน องค์กร ศูนย์และหน่วยงานบริการผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศต่อไป” นายปรีชากล่าวในที่สุด

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ เวิรฟ :

วรญา มณีวรรณ (เพชร) โทร.0-2204-8229

พรชนันท์ มงคลกุล (กิฟท์) โทร.0-2204-8223

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ