ส่วนหนึ่งของนักเรียนไทยที่กวาดเหรียญทองการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกในครั้งนี้ ร่วมเผยทรรศนะว่า
นายสรณภพ เทวปฏิคม หรือ เกรท อายุ 18 ปี นักเรียนชั้น ม.6 จากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า “เมื่อปีที่แล้วผมได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกที่ประเทศมองโกเลีย แต่ไม่ได้รับรางวัลใดๆ ผมจึงสั่งสมประสบการณ์ และเรียนรู้ความผิดพลาดจากจุดนั้น เพื่อที่จะพัฒนาตัวเอง จนในวันนี้ ประสบความสำเร็จดั่งที่ตั้งใจไว้ คือได้รับเหรียญทองเป็นรางวัลให้แก่ความพยายาม สำหรับทุนการแข่งขันฟิสิกส์ที่ผมได้ ไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา คาดว่าจะกลับมาพัฒนา และยกระดับการศึกษาในประเทศไทย” พร้อมทั้งยังฝากข้อคิดดีๆ ไว้ให้เยาวชนชาวไทยด้วยว่า “ไม่ว่าเราจะทำ หรือสนใจในด้านใด ไม่จำเป็นต้องเป็นฟิสิกส์อย่างผมก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือความพยายาม ไม่ว่าจะรักหรือชอบในสิ่งใดก็ตาม เมื่อเรามีความพยายาม สุดท้ายความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกล”
นายธนภัทร วรศรัณย์ “น้องตั้ว” จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม เผยว่า “ผมได้เตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันฟิสิกส์ฯ ตั้งแต่เรียนชั้นม.4 คิดว่าได้รับรางวัลนี้ เพราะอาจารย์ทุ่มเทการฝึกสอน รวมถึงครอบครัวก็สนับสนุนด้วย ส่วนประสบการณ์จากการแข่งขัน คิดว่า เป็นการฝึกฝนตัวเอง เหมือนได้เข้าค่ายอบรมความรู้ด้านฟิสิกส์ ได้พบเพื่อนที่สนใจเรื่องเดียวกัน รู้สึกดี คุยกันสนุก ได้ทั้งความรู้และประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในห้องเรียน แถมยังได้เพื่อน ตอนนี้ยังติดต่อเพื่อนต่างชาติที่บรูไน และไต้หวัน
ทุนนี้ ผมได้เรียนต่อที่อังกฤษ อาจต้องใช้เวลา 8-10 ปี แล้วแต่สาขาวิชา จบมาแล้วอยากเป็นนักวิจัยทางฟิสิกส์ และอยากจะเรียนด้านวิศวะเพิ่ม เพื่อคิดค้นเครื่องมือทางการแพทย์ ที่ได้รับรางวัลโนเบล”
นายจิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ “ทิว” จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เผยว่า “การเรียนฟิสิกส์ ต้องทำความเข้าใจกับหลักการที่มีอยู่ และใช้หลักการมาอธิบายปรากฎการณ์ต่างๆ ทางธรรมชาติ เพียงเรียนรู้ด้วยความเข้าใจ ถ้าเข้าใจที่มาที่ไป ก็จะทำวิชาได้ ส่วนประสบการณ์ได้เรียนรู้วิธีการสร้างมิตรภาพกับเพื่อนต่างชาติ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมต่างชาติ ได้เปิดโลกกว้างว่าเพื่อนต่างชาติ เรียนรู้วิชาฟิสิกส์กันอย่างไร มีการแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน จริงๆ แล้ววิทยาศาสตร์เป็นรากฐานของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ การค้นพบสิ่งใหม่ๆ จะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยังมีส่วน ทำให้ประเทศเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้ คิดว่าผู้ใหญ่ควรจะสนับสนุนให้เห็นถึงประโยชน์ของวิทยาศาสตร์ มิใช่เป็นเพียงเครื่องมือในการแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น”
นายอิสระพงศ์ เอกสินชล “ปริ๊นซ์” มัธยมศึกษาปีที่ 5 นักวิทย์น้องเล็กจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์อีกคน เผยว่า “วิธีการเรียน ที่ดี คือ การรู้จักตัวเอง รู้จักจัดสรรเวลาให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การออกกำลังกาย การพักผ่อน รวมถึงการหมั่นทบทวนบทเรียน ทำความเข้าใจกับวิชานั้น แพ้หรือชนะไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับการแข่งขันนี้ แต่การได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตถือว่าเป็นกำไรครั้งสำคัญ รู้ว่าต้องมีสมาธิในการสอบ ต้องมีความรอบคอบ จัดการเวลาให้กระชับภายในช่วงเวลาจำกัด อยากจะให้มีการกระจายการศึกษาวิทยาศาสตร์ไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น เพราะวันนี้ ความเจริญหรือความพร้อมในด้านการเรียนวิทยาศาสตร์ ยังจำกัดอยู่ภายในกรุงเทพฯ ควรมีการปฎิรูปกระบวนการเรียนการสอน รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการเรียนวิทยาศาสตร์ในท้องถิ่น ยังมีเด็กอีกหลายคนที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์ แต่ขาดโอกาส”
ชีวิตประจำวันของมนุษย์ เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา ไซโก ขอเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ รู้จักวิธีการคิดอย่างมีเหตุมีผล แก้ปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบ จะส่งผลให้นักวิทย์น้อยๆ ในวันนี้ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตได้ ถนนสายวิทยาศาสตร์บ้านเรา จึงจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด โทร 02-434-8300, 0-2434-8547
สุจินดา, แสงนภา, ปนัดดา