ไตรมาสแรกปี 2552 บริษัทจดทะเบียนกำไรรวมกว่าแปดหมื่นล้านบาท

พุธ ๒๐ พฤษภาคม ๒๐๐๙ ๐๙:๕๓
บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกำไรงวดไตรมาสแรกปี 2552 รวม 80,278 ล้านบาท และมียอดขายรวม 1,352,767 ล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรม 3 อันดับแรกที่มีกำไรสูงสุด คือ กลุ่มทรัพยากร กลุ่มธุรกิจการเงิน และกลุ่มบริการ โดยมี THAI, PTT, PTTEP, SCB และ SCC เป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีกำไรสุทธิสูงสุด 5 อันดับแรก

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประจำไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2552 ว่า บริษัทจดทะเบียน 468 บริษัท จาก 496 บริษัท (รวมกองทุนอสังหาริมทรัพย์) มีกำไรสุทธิรวม 80,278 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 48 โดยมีบริษัทที่มีกำไรสุทธิ 325 บริษัท และขาดทุนสุทธิ 143 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน 69 ต่อ 31 ในขณะที่ยอดขายรวมเท่ากับ 1,352,767 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24

“ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไตรมาส 1 ปี 2552 รวม 80,278 ล้านบาท เป็นกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างมากถึงร้อยละ 196 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ที่ขาดทุนสุทธิ 83,623 ล้านบาท เนื่องจากการบริหารต้นทุนขายที่มีประสิทธิภาพ” นางภัทรียากล่าว

สำหรับบริษัทในกลุ่ม SET100 มีกำไรสุทธิ 77,773 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 42 จากงวดเดียวกันของปีก่อน ยอดขายลดลงร้อยละ 26 ขณะที่ต้นทุนขายลดลงร้อยละ 28 ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 20 ส่วนบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม SET50 มีกำไรสุทธิเท่ากับ 83,091 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 32 ยอดขายลดลงร้อยละ 27 ขณะที่ต้นทุนขายลดลงถึง ร้อยละ 31 ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 21

สำหรับบริษัทที่มีมูลค่ากำไรสุทธิรวมสูงสุด 5 อันดับแรกคือ บมจ. การบินไทย (THAI) บมจ. ปตท. (PTT) บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) และ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC)

ด้านผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Group) [ไม่รวมบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่าย อาจถูกเพิกถอน (Non-Compliance: NC) และบริษัทในกลุ่มที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด (Non-Performing

Group: NPG)] จำนวน 449 บริษัท มีกำไรสุทธิรวม 80,571 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 48 โดยผลการดำเนินงานเรียงตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสุทธิสูงสุดดังนี้

1.กลุ่มทรัพยากร ประกอบด้วย หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดเหมืองแร่ มีกำไรสุทธิ 32,355ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 39 ทั้งนี้ กลุ่มทรัพยากรมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่มีขาดทุนสุทธิ 63,715 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 151

2.กลุ่มธุรกิจการเงิน ประกอบด้วย หมวดธนาคาร หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ และหมวดประกันภัยและประกันชีวิต มีกำไรสุทธิ 23,311 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18 ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจการเงินมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่มีกำไรสุทธิ 11,348 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 105

3.กลุ่มบริการ ประกอบด้วย หมวดการแพทย์ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ หมวดบริการเฉพาะกิจ หมวดพาณิชย์ และหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ มีกำไรสุทธิ 13,049 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26 ทั้งนี้ กลุ่มบริการมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ที่มีกำไรสุทธิ 1,020 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1,179

4.กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ประกอบด้วยหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมวดวัสดุก่อสร้าง และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ มีกำไรสุทธิ 12,625 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28 ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ซึ่งมีผลการดำเนินงานขาดทุน 3,686 ล้านบาท กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างมีผลการดำเนินงานดีขึ้นคิดเป็นร้อยละ 443

5.กลุ่มเทคโนโลยี ประกอบด้วยหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีกำไรสุทธิ 7,717 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 54 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ที่มีขาดทุนสุทธิ 4,462 ล้านบาท จะมีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 253

6. กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบด้วยหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดธุรกิจการเกษตร มีกำไรสุทธิ 4,385 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2551 กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 293

7. กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบด้วยหมวดของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ หมวดแฟชั่น มีกำไรสุทธิ 390 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 79 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2551 กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคมีกำไรสุทธิลดลงร้อยละ 46

8.กลุ่มวัตถุดิบสินค้าอุตสาหกรรม ประกอบด้วยหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ หมวดวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร หมวดบรรจุภัณฑ์ หมวดกระดาษและวัสดุการพิมพ์ และหมวดยานยนต์ ขาดทุนสุทธิ 13,261 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 195 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2551 กลุ่มวัตถุดิบสินค้าอุตสาหกรรมทุกหมวดมีผลการดำเนินงานดีขึ้นโดยมีขาดทุนสุทธิลดลงร้อยละ 50 ซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิ 26,615 ล้านบาท

สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 / กนกวรรณ เข็มมาลัย โทร. 0-2229 — 2048/ วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ