“เมื่อพูดถึงการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ทุกคนต้องนึกถึง “โนรา” เป็นอันดับแรก เนื่องจากโนราเป็นการแสดงพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ที่สันนิษฐานว่ามีการสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา...
โนราเป็นการแสดงพื้นบ้านที่ประกอบไปด้วยการรำ ที่แสดงให้เห็นถึงความแข็งแรงและความอ่อนตัวของร่างกายผู้แสดง การร้อง ที่โชว์พลังเสียง สำเนียงภาษาใต้ ที่ดังไพเราะ ชัดเจนและเร้าใจผู้ชมยิ่งนัก การทำบทซึ่งเป็นการตีความหมายของบทร้องให้เป็นท่ารำที่สอดคล้องสัมพันธ์กัน กระตุ้นอารมณ์เพิ่มความสนุกสนานด้วยจังหวะของเครื่องดนตรีเบ็ญจะสังคีต คือโหม่ง ฉิ่ง ทับ กลอง และปี่ใน”
คมสันต์ สุทนต์ พิธีกรหนุ่มอารมณ์ดียังเล่าให้ฟังอีกว่า
“จุดเด่นที่สำคัญอีกอย่างของโนราคือ เครื่องแต่งกายที่มีความสง่างามอย่าง เทริด (อ่านว่าเซิด) ซึ่งเป็นเครื่องประดับศรีษะของโนรา และความพริ้วไหวของชุดลูกปัดที่มีสีสันสดใส รวมทั้งปีก หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าหางหงส์ ก็สะดุดตาผู้ชมทันที นอกจากนี้เครื่องแต่งกายโนรายังประกอบไปด้วย เล็บที่เป็นเครื่องสวมนิ้วมือให้โค้งงอน คล้ายเล็บกินนร กินรี กำไลต้นแขน กำไลปลายแขนและเครื่องประดับอีกมากมายซึ่ง อาจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน (โนรา) รางวัลพระราชทาน พระสิทธิธาดาทองคำ ประจำปี 2547 จะเป็นผู้อธิบายรายละเอียดเครื่องแต่งกายและที่มา ตำนานของโนรา รวมทั้งการแสดงโนราของนักเรียนโรงเรียนมหาวชิราวุธ ที่อาจารย์ธรรมนิตย์เป็นผู้ฝึกซ้อมและจะนำมาโชว์ในรายการไทยโชว์ ให้คุณผู้ชมเข้าใจได้อย่างง่ายดาย”
ทางรายการไทยโชว์ได้เก็บบรรยากาศการซ้อมของเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีใจรักศิลปะการแสดงพื้นบ้านโนราที่มีความอ้อนช้อย สวยงามรับกับบรรยากาศริมชายหาดสมิหลา ขณะพระอาทิตย์กำลังทอแสงสีเหลืองทองสาดส่องลงสู่ท้องทะเล เสียงคลื่นผสมผสานกับเสียงดนตรีของโนราซึ่งสามารถสะกดสายตาทุกคู่ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เมื่อการแสดงสิ้นสุดเสียงปรบมือดังสนั่นด้วยความประทับใจพร้อมกับรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดสงขลาที่เห็นลูกหลานช่วยกันสืบทอดและอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้าน “โนรา”
พลาดไม่ได้รายการ “ไทยโชว์” ตอน โนรา “มหาวชิราวุธ สงขลา” วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคมนี้ เวลา 20.20 น. ทางทีวีไทย (ไทยพีบีเอส)