การแข่งขันหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ที่ได้รับการออกแบบโดยมีต้นแบบมาจากร่างกายมนุษย์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์มีลำตัวพร้อมหัว สองแขน และสองขา ซึ่งในการแข่งขันครั้งนี้นิสิตนักศึกษาต้องประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่มีขนาด 30 - 60 ซม. สำหรับรุ่น Kid size 2 ตัว โดยโจทย์ในการแข่งขันครั้งนี้คือ จำนวนการยิงประตูฟุตบอลที่หุ่นยนต์แต่ละทีมทำได้และหุ่นยนต์ต้องมีความสามารถในการเตะฟุตบอลเข้าประตูด้วย
หลักการสำคัญของแนวความคิดของหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ คือการเป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติ สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมหรือตัวมันเอง และยังคงทำงานต่อเพื่อบรรลุเป้าหมาย สิ่งนี้เป็นข้อแตกต่างหลักระหว่างฮิวแมนนอยด์และหุ่นยนต์ชนิดอื่น เช่นหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ที่ใช้ปฏิบัติภารกิจในสภาพแวดล้อมที่มีโครงสร้างชัดเจนมาก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย กล่าวถึง การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2552 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรและความชำนาญในสาขาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และยานยนต์ ให้แก่นิสิตนักศึกษา พร้อมกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและสนับสนุนการทำกิจกรรมนอกหลักสูตร เตรียมความพร้อมให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ใน ประเทศไทยในการทำโครงการหุ่นยนต์ที่มีความซับซ้อนสูง (Advanced Robotics) และที่สำคัญเพื่อหาตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วม การแข่งขัน World Robocup Soccer: Humanoid) ในปีหน้าต่อไป
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย เนคเทคและซีเกทเห็นพ้องกันว่า “ เราจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพของนิสิตนักศึกษา ให้ได้เรียนรู้และก้าวทันกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญทั้งด้านการศึกษาและด้านอุตสาหกรรมที่กำลังมุ่งไปสู่การทำงานและการผลิตแบบอัตโนมัติมากยิ่งขึ้นในอนาคต” ทางสมาคมฯ ต้องขอขอบคุณเนคเทคและบริษัทซีเกท รวมถึงสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปีนี้ ที่ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพของนิสิตนักศึกษาไทย
นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยกล่าวเสริมทั้งนี้การแข่งขันในครั้งนี้จะเป็นการจุดประกายการสร้างหุ่นยนต์ ซึ่งอาจเป็นภาพที่อาจอยู่ในความฝันของเยาวชนให้สามารถมีชีวิตและการเคลื่อนไหวจริงได้ โดยนิสิตนักศึกษาต้องนำความรู้หลากหลายวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ ตลอดจนเทคนิคต่างๆที่จะทำให้หุ่นยนต์ของแต่ละทีมทำงานได้สมบูรณ์ที่สุด
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า “เนคเทคมีภารกิจสำคัญคือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาประเทศ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นเป้าหมายสำคัญอีกด้านหนึ่งของเนคเทค เป็นรากฐานของการพัฒนาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ที่จะตอบสนองต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของประเทศไทยในหลายมิติ การสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ จะก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรที่สอดคล้องกับภารกิจของเนคเทค อาทิ การนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตที่มีความต้องการเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติเพื่อให้แข่งขันได้ในตลาดโลก การพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อตอบสนองให้ผู้พิการ ผู้ป่วย หรือคนชราสามารถใช้หุ่นยนต์หรือเครื่องกลอัตโนมัติเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือตนเองหรือใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติสุข”
รศ. ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึงศักยภาพของเยาวชนไทยในการแข่งขันหุ่นยนต์ว่า หลายท่านนึกถึงหุ่นยนต์ที่มีโครงสร้างคล้ายมนุษย์เมื่อได้ยินคำว่า “ฮิวแมนนอยด์” แต่สำหรับผมที่ได้คลุกคลีกับเรื่องนี้มานับสิบปีกลับตื่นเต้นยิ่งกว่าเพราะเขาเป็นตัวแทนของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในปัจจุบันก่อนจะก้าวไปถึงขั้นไซบอร์กและแอนดรอยด์เช่นในภาพยนต์ฮอลลีวู้ด
ขอขอบคุณบริษัทซีเกทเทคโนโลยี (ประเทศไทย) ที่ให้การสนับสนุนเด็กไทยผ่านทางสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย จนเขาเหล่านั้นได้เพลิด “เพลิน(เล่นและเรียนรู้ไปพร้อมกัน)” กับเทคโนโลยีขั้นสูง บริษัทต่างชาติเช่น ซีเกท ได้มีส่วนสำคัญยิ่งในการช่วยให้สังคมไทยรับทราบขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของเด็กไทยและคนไทยในเวทีโลก
นายเจฟฟรี่ย์ ดี. ไนการ์ด รองประธานและผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การแข่งขันครั้งนี้จะเป็นการต่อยอดความรู้ในระดับที่มีความสลับซับซ้อนสูงสุดของนิสิตนักศึกษาที่อาจจะเคยผ่านการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ รวมถึงการสร้างรถอัจฉริยะ เป็นการรวมองค์ความรู้ของหลายศาสตร์และแสดงออกผ่านตัวหุ่นยนต์ ที่สมบูรณ์เป็นลักษณะคล้ายมนุษย์มากที่สุด “การแข่งขันครั้งนี้จะทำให้นิสิตสามารถประยุกต์ใช้ทฤษฎีออกมาเป็นผลงานที่สามารถทำงานได้จริง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานทั้งในทางอุตสาหกรรมและทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ”
การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2552 เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์อัตโนมัติสมบูรณ์แบบโดย ใช้เทคโนโลยีระดับสูงทั้งระบบการมองเห็น ( Vision) ระบบสื่อสารแบบไร้สาย และการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligent )
สำหรับการแข่งขัน จะแบ่งเป็น 2 รอบ คือรอบคัดเลือก จะมีการอบรมเชิงปฏิบัติ ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาจากผล การทดสอบหลังการฝึกอบรม โดยผู้เข้าแข่งขันต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานในการประดิษฐ์หุ่นยนต์เตะฟุตบอล ที่ทำงานใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติแบบ ไร้สายและรับสัญญาณภาพจากกล้องเพื่อทดสอบความสามารถของหุ่นยนต์ ในการแข่งขันรอบคัดเลือก ทีมที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุด 10 ทีมแรกจะได้เข้าไปแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ พร้อมทั้งรับเงินสนับสนุนเพื่อการพัฒนาหุ่นยนต์
สำหรับกติกา ในรอบชิงชนะเลิศนั้น ผู้เข้าแข่งขันจะต้องประดิษฐ์หุ่นยนต์เพื่อใช้ในการแข่งขัน ได้ไม่เกินทีมละ 2 ตัว หุ่นยนต์หนึ่งในสองตัวนี้จะทำหน้าที่เป็นผู้รักษาประตู เพื่อแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์โดยมีระยะเวลาในการเตะฟุตบอล 20 นาที แบ่งเป็นครึ่งแรก 10 นาทีและครึ่งหลัง 10 นาที ทีมที่ทำประตู ได้มากกว่าเป็นจะผู้ชนะในการแข่งขันครั้งนี้
รางวัลสำหรับทีมหุ่นยนต์ในประเภท ต่างๆ ได้แก่ สำหรับทีมชนะเลิศได้รับ รางวัลเงินสด 200,000 บาท พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก (World Robocup 2009) ณ ประเทศสิงคโปร์ รางวัลเงินสด 100,000 บาท สำหรับรางวัลรองชนะเลิศ ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมการแข่งขัน ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่.31 สิงหาคม 2552 ทั้งนี้ทุกทีมที่สมัครเข้าร่วม การแข่งขันต้องเข้าร่วมการฝึกอบรมเพื่อคัดเลือก ทีมที่เข้ารอบสุดท้าย โดยจะประกาศผลในวันที่ 31 ตุลาคม 2552. และแข่งรอบชิงชนะเลิศ ประเทศไทย ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2553 สามารถสมัครเข้าร่วมแข่งขันโดยการดาวน์โหลดใบสมัคร และดูกติกา รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.trs.or.th
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงาน เกี่ยวข้องวิศวกรรมหุ่นยนต์อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักวิจัย และนักอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริม และเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์ จัดกิจกรรมการปฏิบัติงานทางวิชาการ เพื่อพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์เป็นศูนย์กลางทางด้านข่าวสารในวิทยาการใหม่ๆของหุ่นยนต์ ทั้งใน ประเทศและ ต่างประเทศและสร้างเครือข่ายนักวิจัยและวิชาการเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ในสาขาหุ่นยนต์และ วิศวกรรมอัตโนมัติ ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ได้ที่ โทร. 0-2889-2138 ต่อ 6446 หรือ เว็บไซต์ www.trs.or.th
เนคเทค
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค ) เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งเน้นงานทางด้านการวิจัย พัฒนา ออกแบบ และวิศวกรรม (Research Development Design and Engineering: RDDE) ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจหลักที่สำคัญที่สุดของเนคเทค นอกเหนือ ไปจากภารกิจทางด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านนโยบาย กฏหมาย และโครงสร้างพื้นฐานทาง ICT ซึ่งเนคเทคได้ดำเนินภารกิจหลักนี้มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์กรในปี พ.ศ. 2529 มาจนถึงปัจจุบัน มีผลงานจากโครงการวิจัยต่างๆนำไปถ่ายทอดให้กับผู้ใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆเป็นจำนวนมาก ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.nectec.or.th
ซีเกท
ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในการออกแบบ การผลิตและการตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และโซลูชั่นสำหรับจัดเก็บข้อมูลจาก การนำเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับระบบปฏิบัติการต่าง ๆ รวมทั้งองค์กร เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ (Mobile Computing) อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (Consumer Electronics) และแบรนด์โซลูชั่น (Branded Solutions) รูปแบบการดำเนินธุรกิจของซีเกทช่วยเสริมสร้างความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและการผลิตระดับโลก เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีคุณภาพในระดับชั้นนำของอุตสาหกรรมไปยังลูกค้าทั่วโลก รวมทั้งเป็นผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำในตลาดทั้งหมดที่ เรามีส่วนร่วม บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลและมีคุณภาพดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการบันทึกข้อมูลที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาในโลก ท่านสามารถพบซีเกทได้ทั่วโลกและค้นหาข้อมูลซีเกทเพิ่มเติมที่ www.seagate.com
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
นางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
โทรศัพท์ 0-2715-2919 Email: [email protected]