นางจรวยพร ธรณินทร์ กรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ในฐานะโฆษก ก.พ.ค. กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้จะได้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและดำเนินการต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับนี้ อาทิ กำหนดให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเป็นรายเดือน ตามบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มท้ายพระราชกฤษฎีกาตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่ง กำหนดให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ มีสิทธิได้รับ ค่ารักษาพยาบาล หรือการประกันสุขภาพตามที่จ่ายจริงในอัตราเบี้ยประกันคนละไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี กำหนดให้นำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าใช้บริการวิทยุ โทรศัพท์เคลื่อนที่ตามที่กระทรวงการคลังกำหนดมาใช้บังคับกับการเบิกจ่ายของกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์โดยอนุโลม
นอกจากนี้ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณบำเหน็จตอบแทน โดยให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ มีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียวเมื่อพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนด โดยให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่มีการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งกำหนดให้สิทธิในบำเหน็จตอบแทนเป็นสิทธิเฉพาะตัว จะโอนไม่ได้ ทั้งนี้ กรณีที่กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุถึงแก่ความตาย ให้จ่ายบำเหน็จตอบแทนแก่ทายาทโดยธรรม
ขณะเดียวกัน ยังกำหนดให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นตามพระราชกฤษฎีกานี้ นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง พร้อมทั้งกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการ ตามพระราชกฤษฎีกา
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว สืบเนื่องจากได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2551 และได้มีการออกกฎ ระเบียบ เพื่อใช้บังคับ ตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งรวมถึงกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2551 และกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการ ร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 ที่ได้ประกาศใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2551 เป็นต้นมา โดยจากข้อกำหนดในกฎ ก.พ.ค. ดังกล่าว ยังกำหนดให้กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ปฏิบัติหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาด ต้องทำงาน เต็มเวลา และจะประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอย่างอื่นอันมีลักษณะต้องห้ามมิได้ ซึ่งหลักการดังกล่าวมีลักษณะทำนองเดียวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ก.พ.ค.
“ขั้นตอนหลังจากนี้ ก.พ.ค. จะเริ่มกระบวนการคัดเลือกกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และ ร้องทุกข์รวม 14 ตำแหน่ง ซึ่งจะช่วยให้งานของ ก.พ.ค. เป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะงานวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ต้องเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดตามกฏหมายคือ 120 วัน และขยายเวลาออกไปได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 60 วัน รวมแล้วไม่เกิน 240 วัน ซึ่งในการทำงานปีแรกนี้มีการคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนเรื่องอุทธรณ์ร้องทุกข์ที่ส่งมายัง ก.พ.ค. ไม่ต่ำกว่า 700 เรื่อง” โฆษก ก.พ.ค. กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1786 กลุ่มสื่อสารองค์กร สำนักงาน ก.พ.