PYLON เอาฤกษ์โชว์กำไรโค้งแรกยอดเยี่ยม เชื่อฝ่ามรสุมดันผลงานครึ่งปีแรกเติบโตได้

ศุกร์ ๒๒ พฤษภาคม ๒๐๐๙ ๑๑:๒๙
PYLON โชว์ผลประกอบการในงบรวมบริษัทย่อยโค้งแรกปี 52 ออกมายอดเยี่ยมโชว์กำไรทะลุ 15.43 ล้านบาท ขณะที่งบเดี่ยวอยู่ที่ 11.02 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 10.05 ล้านบาท "บดินทร์ แสงอารยะกุล" เผยเป็นผลมาจากรับรู้งานในมือที่มีอยู่ 200 ล้านบาท และบริษัทลูก " เอ็กซิลอน" เริ่มทำกำไรได้ชัดเจนขึ้น พร้อมคุย เตรียมประมูลเพิ่มอีก 300 ล้านบาท เชื่อครึ่งปีแรกฝ่ามรสุมเศรษฐกิจซบ

นายบดินทร์ แสงอารยะกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) หรือ PYLON เปิดเผยถึงผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 1/2552 สิ้นสุดวันที่ 31มีนาคม 2552ว่า บริษัทฯ รวมบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 15.33 ล้านบาท ในขณะที่งบเฉพาะกิจการจะพบว่าบริษัทฯมีกำไรสุทธิ 11.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี2551 ที่ทำได้ 10.05 ล้านบาท โดยผลประกอบการที่เติบโตขึ้นสวนทางกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นผลมาจากการทยอยรับรู้รายได้จากงานที่อยู่ในมือ(Backlog) ที่มีอยู่ประมาณ 200 ล้านบาท รวมถึงรับรู้รายได้จากบริษัทย่อย คือ บริษัท เอ็กซิลอน จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการงานออกแบบก่อสร้างและตกแต่งสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่ PYLON ถือหุ้นในสัดส่วน 51%

"ไตรมาสแรกที่งบของเราออกมาดีเพราะรับรู้รายได้จาก Backlog ที่มีอยู่ในมือกว่า 200 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังได้ผลประกอบการของบริษัทลูก " เอ็กซิลอน" เข้ามาช่วยหนุน แม้ว่าจะเพิ่งก่อตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา แต่ก็สามารถสร้างรายได้และกำไรได้ทันที ซึ่งปีนี้จะรับรู้รายได้เต็มปีเชื่อว่าน่าจะสนับสนุนให้ผลประกอบการของ PYLON เป็นไปในทิศทางที่ดีได้"

นายบดินทร์ กล่าวต่อถึง แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาสที่ 2/2552 ว่า ยังมีทิศทางที่ดีแต่อาจชะลอลงบ้างเนื่องจากมีวันหยุดเยอะในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม โดยในช่วงไตรมาส 2/2552 บริษัทมีงานในมือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 150 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการประมูลอีกประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทยอยรับรู้เข้ามาเป็นรายได้ในช่วงปลายไตรมาส 2/2552 จนถึงต้นไตรมาสที่ 3/2552 ดังนั้น คาดว่าผลประกอบการครึ่งปีแรกมีแนวโน้มที่ดี แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทได้เข้าร่วมประมูลงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายฐานลูกค้า รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาการทำงาน ให้เหมาะสมกับงานแต่ละโครงการ เพื่อให้สามารถรองรับงานที่จะเข้ามาในอนาคตได้อย่างคล่องตัว

สำหรับการขยายธุรกิจในครึ่งปีหลัง กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ PYLON กล่าวว่า บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าร่วมประมูลงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มจำนวน Backlog ให้มากขึ้น หลังจากที่ส่วนใหญ่จะทยอยรับรู้เป็นรายได้ในช่วงครึ่งปีแรก โดยจะให้ความสำคัญกับงานในภาครัฐเป็นหลัก เนื่องจากมองว่าจะเริ่มมีงานในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ซึ่งน่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปี 2552 และที่ผ่านมาโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ- ตลิ่งชัน และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ได้ผู้ชนะการประมูลแล้วจะช่วยให้มีงานเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ดังนั้นบริษัทต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว รวมถึงการขยายพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อให้รับงานได้กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน PYLON มีความพร้อมเป็นอย่างดีทั้งด้านกระแสเงินสด ประสบการณ์ในโครงการขนาดใหญ่รวมทั้งเครื่องมือและบุคลากรที่มีอยู่อย่างครบครัน

นายบดินทร์ กล่าวต่อในช่วงท้ายว่าถึงแม้ในปี 2552 จะเป็นอีกปีหนึ่งที่ดำเนินธุรกิจอย่างยากลำบาก แต่จากประสบการณ์ และผลงานที่สร้างไว้เป็นจำนวนมากในตลาด จะทำให้ PYLON ยังสามารถรักษาส่วนแบ่งในตลาดรับเหมาก่อสร้างฐานรากไว้ที่ระดับ 20% ซึ่งเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดในปัจจุบันไว้ได้ ส่วนรายได้นั้นวางเป้าหมายไว้ที่ระดับ 500 — 700 ล้านบาท เนื่องจากราคาเหล็กและน้ำมันที่ลดลงทำให้มูลค่าต่อโครงการลดลงไปด้วย

ข้อมูลบริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) (PYLON)

บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) (PYLON) ดำเนินธุรกิจเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างงานฐานรากงาน แบ่งออกเป็น 3 สายงานหลัก ดังนี้ คือ

1.งานเสาเข็มเจาะ (Bored Pile) เสาเข็มเจาะเป็นเสาเข็มที่นิยมใช้กับการก่อสร้างฐานรากของโครงสร้างขนาดใหญ่ และโครงสร้างอาคารในบริเวณที่มีพื้นที่จำกัด นอกจากนี้เสาเข็มเจาะยังลดมลภาวะเรื่องเสียงและแรงสั่นสะเทือนเมื่อเทียบกับการใช้เสาเข็มตอก การก่อสร้างเสาเข็มเจาะนั้นสามารถปรับเปลี่ยนขนาดได้ จากขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 50 เซนติเมตร จนถึงมากกว่า 1 เมตรขึ้นไป และทำได้ถึงความลึกมากกว่า 60 เมตร ขึ้นอยู่กับการออกแบบกำลังรับน้ำหนักของเสาเข็มโดยวิศวกร และสภาพชั้นดินในแต่ละพื้นที่

2. งานปรับปรุงคุณภาพดิน (Ground Improvement) มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้กับโครงสร้างของดินเดิม ทำให้ดินมีกำลังรับน้ำหนักมากขึ้นและป้องกันการเคลื่อนตัวของดิน โดยบริษัทมีการให้บริการงานประเภทนี้โดยวิธีการอัดฉีดซีเมนต์ด้วยแรงดันสูง (Jet Grouting) ที่ความดันประมาณ 200 ถึง 400 บาร์ และ 3.งานก่อสร้างกำแพงกันดินชนิดไดอะแฟรม (Diaphragm Wall) กำแพงกันดินชนิดไดอะแฟรมเป็นการก่อสร้างกำแพงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นโครงสร้างรับน้ำหนักและป้องกันการเคลื่อนตัวของดินทางด้านข้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เพื่อเป็นโครงสร้างของชั้นจอดรถใต้ดิน กำแพงอาคารผู้โดยสารสำหรับระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน และอุโมงค์ลอดทางแยก เป็นต้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : จุฬารัตน์ เจริญภักดี (ฟ้า) 02-5549395

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ