นายศุภกิจ บุญญฤทธิพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ให้เกียรติเป็นประธานในการปล่อยเรือรณรงค์ โดยมีเรือพายและเรือท้องถิ่นต่างๆ จำนวนมากของชาวนครสวรรค์ร่วมพายเรือในกิจกรรมเปิดโครงการ นักกิจกรรมกรีนพีซจำนวน 4 คนจะพายเรือแคนูรณรงค์ไปตลอดเส้นทาง เป็นระยะทางรวม 350 กิโลเมตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจุดประกายให้ทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล โรงงานอุตสาหกรรม ผู้ก่อมลพิษ และชุมชนที่ได้รับผลกระทบให้รวมพลังปกป้องแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศ
“แม่น้ำเจ้าพระยาหล่อเลี้ยงประชากรนับล้านคน เป็นฐานรากของระบบเศรษฐกิจและการปกครอง นอกจากนี้ยังเป็นหน้าต่างสู่อารยธรรมลุ่มน้ำอันเป็นมรดกที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน แต่เป็นที่น่ากังวลว่าคุณภาพน้ำได้เสื่อมลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากขาดการดูแลเอาใจใส่ ขาดการตรวจสอบเฝ้าระวังมลพิษ และการเพิ่มขึ้นของประชากร ขณะนี้คนไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำ และวิกฤตขาดแคลนน้ำจะเกิดเร็วขึ้นเนื่องจากมลพิษทางน้ำจะส่งผลให้แหล่งน้ำที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มีปริมาณลดน้อยลง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ชาวไทยจะต้องร่วมกันปกป้องรักษาแหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นทรัพยากรมีค่าของทุกคนไม่ให้เสื่อมโทรมมากไปกว่านี้” นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กรีนพีซเปิดเผยรายงาน “พื้นที่และแหล่งน้ำที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำในประเทศไทย” ซึ่งระบุว่าประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำมากกว่าร้อยละ 92.68 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยเป็นพื้นที่เสี่ยงในระดับสูงร้อยละ 6.87 ของพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด ซึ่งหากขาดการลงมือป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำอย่างจริงจัง อาจส่งผลกระทบต่อประชากรไทยมากถึง 4,440,049 คน
ในกิจกรรม “พายเรือสร้างรอยยิ้มให้เจ้าพระยา” นายศุภกิจ บุญญฤทธิพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ได้ให้เกียรติเป็นประธานปล่อยขบวนเรือรณรงค์ ภายในงานยังมีการแสดงเชิดมังกรซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด กิจกรรมการเขียนข้อความส่งสาส์นจากคนต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำ ตลอดการเดินทางนักกิจกรรมของกรีนพีซจะสำรวจแหล่งกำเนิดมลพิษ พูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชุมชนริมน้ำ เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายและศึกษาสถานการณ์มลพิษสำหรับการรณรงค์ปกป้องแหล่งน้ำจากมลพิษต่อไป
ข้อเรียกร้องของกรีนพีซต่อการรณรงค์เพื่อปกป้องแหล่งน้ำ
1. ตรวจหา ลงโทษ และปิดโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำทิ้งปนเปื้อนสารเคมีอันตรายลงสู่แหล่งน้ำ
2. ดำเนินโครงการฟื้นฟูแม่น้ำเจ้าพระยาโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
3. ปิดหลุมฝังกลบขยะชุมชนบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
4. สร้างแรงจูงใจทางการเงินสำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด (Clean Production) ในภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรรมอินทรีย์ปลอดสารพิษ
หมายเหตุ
1 สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากรายงาน “พื้นที่และแหล่งน้ำในประเทศไทยที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษ” ได้ที่http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/water-pollution-risk-areas-thailand
2 ดูรายละเอียดโครงการรณรงค์ และชมภาพกิจกรรมรณรงค์พายเรือสร้างรอยยิ้มแก่เจ้าพระยาตลอดการเดินทางได้ที่ http:/waterpatrol.greenpeace.org
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร. 081-658-9432
วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร 089-487-0678