นายสุรพล วัฒนวงศ์ รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า วว. ได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (The University of California Riverside) หรือ UCR ในการทำวิจัยและพัฒนาการผลิตน้ำมันดีเซลเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวล โดย วว. ได้รับเกียรติจาก Prof.Joseph M. Norbeck ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อม (Director, Environmental Research Institute) เป็นผู้แทนลงนามแทนอธิการบดีของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ในครั้งนี้
สำหรับข้อตกลงในการทำวิจัยร่วมกันนี้มีระยะเวลา 3 ปี โดยทั้ง วว. และ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียฯ จะได้ทำวิจัยในด้านการผลิตน้ำมันดีเซลเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวลควบคู่กันไป มีการแลกเปลี่ยนนักวิจัย ข้อมูล และเปรียบเทียบผลวิจัยระหว่างกัน อีกทั้งหากมีการค้นพบเทคนิควิธีการใหม่ๆ ในการผลิตดีเซลเชื้อเพลิงสังเคราะห์จะได้ทำการจดสิทธิบัตรร่วมกัน
ดร.สุทธิพร ชีวสาธน์ ผอ.ฝ่ายเทคโนโลยีพลังงาน วว. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สำหรับการวิจัยการผลิตน้ำมันดีเซลเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากเชื้อเพลิงจากชีวมวล ที่ วว. กำลังดำเนินการนี้จะใช้ชีวมวลที่มีอยู่ในภูมิภาคต่างๆของประเทศ เช่น ขี้เลื่อย กากตะกอน น้ำเสีย ฟางข้าว กะลาปาล์ม ซังข้าว เป็นต้น เพื่อเป็นวัตถุดิบ โดยเริ่มจากกระบวนการแปรรูปชีวมวลเป็นก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่มีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมนอกไซด์ และก๊าซไฮโดรเจนจากนั้นจึงนำก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่ผ่านการทำความสะอาดเพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อน ไปเข้าสู่เตาปฏิกรณ์เพื่อแปรรูปเป็นน้ำมันดีเซลเชื้อเพลิงสังเคราะห์
“...ความร่วมมือระหว่าง วว..และ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียฯ ในครั้งนี้ จะทำให้ วว. ได้ประโยชน์จากการเรียนรู้เทคโนโลยีและเทคนิคขั้นสูง ที่มีความทันสมัยจากผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศที่มีประสบการณ์ในการวิจัยมายาวนา นและเป็นผู้ถือสิทธิบัตรเกี่ยวกับการแปรรูปก๊าซชีวมวล ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิจัย นับว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวิจัยระหว่างทั้งสองหน่วยงาน อันเป็นการสร้างองค์ความรู้ด้านพลังงานทางเลือกให้กับประเทศ...” ผอ.ฝ่ายเทคโนโลยีพลังงาน กล่าว
อนึ่งการวิจัยและพัฒนาการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวลนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศูนย์ต้นแบบระบบผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวล ที่ วว. จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อใช้เป็นศูนย์การวิจัยพัฒนาขึ้นสูง เพื่อการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากชีวมวล โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี (2552-2555) วว. คาดหวังว่าผลลัพธ์ที่เกิดจากการดำเนินโครงการฯจะช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ช่วยสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศในช่วงวิกฤตพลังงาน อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิส ตลอดจนก่อให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์ขนาดย่อมในอนาคต