สรุปการสัมมนาวิชาการเวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum)

จันทร์ ๒๕ พฤษภาคม ๒๐๐๙ ๑๗:๕๘
สรุปการสัมมนาวิชาการเวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) ภายใต้โครงการขยายบทบาทสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสู่ภูมิภาค ณ จังหวัดสมุทรสาคร วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม 2552 เวลา 8.30 — 16.30 น. ณ ห้องโชติกา โรงแรมเซ็นทรัล เพลส

การสัมมนาวิชาการภายใต้โครงการขยายบทบาทสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสู่ภูมิภาค เรื่อง “ธุรกิจเงินร่วมลงทุน: แหล่งทุนทางเลือกแทนการก่อหนี้” ณ จังหวัดสมุทรสาคร มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับรู้และเข้าใจถึงประโยชน์ของธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) ช่องทางในการเข้าถึงแหล่งทุนดังกล่าว แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องร่วมกัน

และรับคำแนะนำจากหน่วยงานและสถาบันการเงินของรัฐที่ให้บริการธุรกิจเงินร่วมลงทุนด้วย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชนเป็นวิทยากร และนายธนกฤต ฉัตราภรณ์ เศรษฐกรชำนาญการ สำนักนโยบายการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยสาระสำคัญของ

การสัมมนาสรุปได้ ดังนี้

นายมานิต จตุจริยพงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการกองทุนร่วมลงทุน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้อธิบายถึงประโยชน์ของธุรกิจเงินร่วมลงทุนที่ผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับ พร้อมทั้งเปรียบเทียบการจัดหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบของธุรกิจเงินร่วมลงทุน และในรูปแบบของสินเชื่อ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME ได้เห็นถึงข้อแตกต่างระหว่างเครื่องมือทางการเงินทั้งสองรูปแบบ และได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ในอุตสาหกรรมการผลิต การค้า และการบริการผ่านกองทุนร่วมลงทุน เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันของธุรกิจไทย ซึ่งแนวทางดังกล่าวประกอบด้วย

(1) การสนับสนุนด้านการเงินในรูปแบบของการร่วมทุน (Equity participation) โดยเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาว เพื่อการขยายธุรกิจหรือใช้เป็นทุนหมุนเวียนของกิจการ ทั้งนี้ SME ต้องเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถแข่งขันบนพื้นฐานของการสร้างนวัตกรรม (knowledge-based innovation) โดยผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมเพื่อร่วมลงทุน โดยนำเสนอแผนธุรกิจที่มีความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจที่สามารถให้ผลตอบแทนในระยะเวลาที่กำหนดจนสามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI (Market for Alternative Investment) ได้ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาตลาดทุน (Capital Market) ของประเทศต่อไป

(2) การสนับสนุนด้านเทคนิควิชาการ โดยผ่านระบบพี่เลี้ยง (Mentor) และการเป็นที่ปรึกษาในด้านเทคนิคการผลิต การบริหารจัดการ การเงิน และการจัดหาพันธมิตรทางธุรกิจ เป็นต้น เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานที่ผ่านมา อาทิ ผู้ประกอบการขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุน การขาดความรู้ด้านการจัดทำแผนธุรกิจรวมทั้งทัศนคติของผู้ประกอบการเกี่ยวกับการมีหุ้นส่วนภายนอก ซึ่งมีผลทำให้ผู้ประกอบการ SME ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ดังนั้น แนวทางในการแก้ไขปัญหา อุปสรรคการร่วมทุน จึงจัดให้มีการอบรมและมีเวทีของการสัมมนาเพื่อเป็นการสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกรรมของการร่วมทุน เพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าร่วมลงทุนให้กับผู้ประกอบการ

นางสาวยุภา จิตรภาษ์นันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวาณิชธนกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการของสถาบันการเงินด้วยการร่วมลงทุน ซึ่งเป็นบริการรูปแบบใหม่นอกเหนือจากบริการทางด้านสินเชื่อที่ธนาคารให้บริการอยู่เดิม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดด้านเงินทุนแต่มีศักยภาพที่จะขยายกิจการและยกระดับมาตรฐานการผลิตให้สูงขึ้นได้ เพื่อเตรียมตัวรับการแข่งขันที่จะมีมากขึ้นภายใต้การเปิดเสรีทางการเงิน ซึ่งการเปิดเสรีทางการเงินส่งผลกระทบใน 2 ส่วน คือ ผลกระทบต่อภาคการเงิน กล่าวคือ การที่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีความหลากหลายมากขึ้นและต้นทุนทางการเงินลดลงอันเป็นผลมากจากการเปิดเสรีทางการเงินนั้น จะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้นและเลือกแหล่งทุนที่มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการเพิ่มบทบาทของเครื่องมือทางการเงินเพื่อการลงทุนของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ การเปิดเสรีทางการเงินยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเองด้วย กล่าวคือ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถแข่งขันได้ ทั้งในด้านการผลิต บุคลากร และการตลาด โดยในส่วนของ EXIM Bank นั้น ได้มีบทบาทในธุรกิจเงินร่วมลงทุนโดยสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกและนำเข้า หรือเป็นกิจการที่ก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศ ให้มีฐานทุนที่ใหญ่ขึ้น สามารถขยายกิจการได้โดยมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนที่เหมาะสม ให้บริการข้อมูลหรือเครือข่ายของ EXIM Bank รวมทั้งให้คำปรึกษาทางการเงินในการดำเนินธุรกิจ และสร้างภาพลักษณ์ของผู้ประกอบการในการมีองค์กรภาครัฐเป็นผู้ถือหุ้น

นายพิสิทธิ์ พัฒนะนุกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการร่วมลงทุน ซึ่งประกอบด้วยการเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการ ลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน ลดค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ย เพิ่มความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ สร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในการบริหาร และมีระบบบัญชีที่น่าเชื่อถือ โดยในส่วนของ SME Bank ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ SME ได้มีแผนการส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจ SME ผ่านทางธุรกิจเงินร่วมลงทุน ซึ่งสนับสนุนให้ประกอบการได้รับประโยชน์ตามที่กล่าวข้างต้น ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเข้าร่วมลงทุนที่กำหนด นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานที่ผ่านมา อาทิ การร่วมลงทุนมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากไม่มีหลักประกัน ทำให้ต้องมีการพิจารณาอย่างเข้มงวด ธนาคารต้องตั้งสำรองความเสียหาย ทำให้กระทบต่อฐานะการดำเนินงานในแต่ละปี รวมทั้งธุรกิจมีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการยังไม่เข้าใจถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการร่วมทุนโดยเกรงจะสูญเสียความเป็นอิสระในการบริหาร เป็นต้น

นายคุณากร เมฆใจดี กรรมการและเลขานุการ สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน ได้นำเสนอมุมมองของธุรกิจเงินร่วมลงทุนในเชิงปฏิบัติว่า ผู้ประกอบการต้องประสบกับความเสี่ยงในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ทั้งที่เกิดจากภายในและภายนอกกิจการ โดยด้านปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากภายในกิจการได้แก่ ความเสี่ยงด้านผลิตภัณฑ์ (Product Risks) ความเสี่ยงด้านการผลิต (Manufacturing Risks) ความเสี่ยงด้านการจัดการ (Management Risks) เป็นต้น สำหรับด้านปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากภายนอก เป็นความเสี่ยงด้านการตลาด (Marketing Risks) และความผันผวนทางเศรษฐกิจ ซึ่งจากปัจจัยเสี่ยงข้างต้นดังกล่าว เป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการปรับตัว โดยเฉพาะในเรื่องของการปรับปรุงการควบคุมคุณภาพ (Quality Control) และการสร้างความมั่นใจในคุณภาพ (Quality Assurance) ซึ่งเป็นประเด็นของการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการผลิต นับตั้งแต่วัตถุดิบต้นทาง กระบวนการผลิต และการส่งมอบสินค้า รวมถึงการปรับโครงสร้างองค์กร และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการสร้างวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการ ซึ่งเห็นว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่จะดำเนินการในช่วงภาวะเศรษฐกิจและการผลิตชะลอตัว นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการวางแผนและบริหารจัดการที่รอบคอบแต่ทันการณ์ โดยในช่วง 20 ที่ผ่านมา ธุรกิจเงินร่วมลงทุนได้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ โดยมีโครงการที่ได้รับอนุมัติร่วมลงทุนคิดเป็นร้อยละ 5.3 ซึ่งในจำนวนนี้สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ถึงร้อยละ 83

การจัดสัมมนาในครั้งนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และประชาชนที่สนใจ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะนำข้อคิดเห็นที่ได้ไปประกอบการพิจารณานำเสนอนโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีการพัฒนาศักยภาพในเชิงธุรกิจต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย