วางศิลาฤกษ์ศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ

พุธ ๒๗ พฤษภาคม ๒๐๐๙ ๑๖:๕๕
นายสมศักดิ์ กลั่นพจน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์ศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ โดยมีนายชาญชัย วิทูรปัญญากิจ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ พร้อมคณะผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิธี ณ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร โครงการศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ ตั้งอยู่ในบริเวณสระน้ำของสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ด้าน ถ.กำแพงเพชร 2 เป็นการดำเนินงานก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวมขนาดใหญ่ ตามแผนหลักการบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร ระบบบำบัดน้ำเสียใต้ดิน จะอยู่ด้านล่างของอาคารศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสียจากชุมชนและมลภาวะทางน้ำ โดยทำการรวบรวมน้ำเสียจากชุมชนเข้าสู่โรงควบคุมคุณภาพน้ำก่อนปล่อยทิ้งลงสู่คู คลอง และแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสียในเขตกรุงเทพมหานครเป็น 1,137,700 ลบ.ม./วัน ครอบคลุมพื้นที่บริการทั้งหมดประมาณ 212 ตร.กม. อาคารระบบบำบัดน้ำเสียเป็นระบบปิดอยู่ใต้ดิน และมีระบบดูดอากาศที่มีกลิ่นทั้งหมดไปกำจัดด้วยระบบ Activated Sludge Diffusion และ Biofilter จึงไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางกลิ่นและเสียง กระบวนการบำบัดน้ำเสีย ในขั้นแรกจะมีถังดักทรายและตระแกรงดักขยะขนาดเล็ก ขั้นที่สองเป็นระบบบำบัดทางชีวภาพชนิด Step Feed BNR ต่อมาเป็นระบบกรองด้วยเมมเบรน สำหรับบำบัดน้ำเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ในการทำน้ำตกประดับอาคาร ดูแลรักษาสวน ขั้นตอนการจัดการตะกอนน้ำเสีย ทำหน้าที่รีดน้ำออกจากจะตอนให้มีของแข็งเหลืออยู่ร้อยละ 20 แล้วจึงขนส่งไปผลิตก๊าซชีวภาพที่โรงควบคุมคุณภาพน้ำหนองแขม

ศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อได้มีการออกแบบภูมิทัศน์รอบอาคารให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมภายในสวนวชิรเบญจทัศ ที่มีความสวยงามเป็นธรรมชาติ โดยยังคงรักษาเส้นทางวิ่งและจักรยาน รวมถึงต้นลำพูบริเวณรอบสระน้ำไว้ องค์ประกอบหลักของอาคาร คือ ม่านน้ำตกขนาดใหญ่ทอดยาวตามความโค้งของผนังอาคาร และอุทยานไม้น้ำในบริเวณสระน้ำด้านหน้าอาคาร โดยมีส่วนแสดงพันธุ์ไม้ชุ่มน้ำ ไม้น้ำสวยงาม และไม้หอม ประเภทต่างๆ เช่น พืชจำพวกบัว พืชชายน้ำ พืชน้ำที่มีกลิ่นหอม พืชลอยน้ำ พืชน้ำกินได้ พืชที่มีรากอากาศ และปาล์มในที่ลุ่มชื้น เป็นต้น ศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ จัดแบ่งอาคารเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนพื้นที่ชั้นบนจะเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการด้านสิ่งแวดล้อม โดยการเน้นการใช้สื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย น่าสนใจ เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป มีห้องสมุด ห้องประวัติ ศูนย์ข้อมูลโครงการบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร และห้องจัดประชุมสัมมนาขนาด 200 ที่นั่ง ส่วนพื้นที่ชั้นล่างจะมีโรงควบคุมคุณภาพน้ำอยู่ใต้ดิน ที่มีความลึกลงไปประมาณ 13 เมตร ซึ่งสามารถบำบัดน้ำเสียได้ 120,000 ลบ.ม./วัน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 20 ตร.กม. รวม 4 พื้นที่เขต คือ เขตบางซื่อทั้งหมด บางส่วนของเขตจตุจักร เขตดุสิต และเขตพญาไท โดยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจะปล่อยลงสู่คลองเปรมประชากร คลองบางเขน คลองบางซื่อ และสระน้ำในสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เพื่อช่วยปรับสภาพน้ำให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น

โครงการดังกล่าวนี้สร้างบนเนื้อที่จำนวน 5 ไร่ เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 51 กำหนดแล้วเสร็จ 24 พ.ย. 53 รวมระยะเวลา 810 วัน โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 2,546 ล้านบาท เมื่อเปิดดำเนินการแล้วจะเป็นแหล่งบำบัดน้ำเสียรวมขนาดใหญ่ และเป็นสถานที่พักผ่อนและให้ความรู้แห่งใหม่เพิ่มเติมจากอุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์เด็ก พิพิธภัณฑ์รถไฟ และศูนย์กีฬา ในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ