นายสุนัย เศรษฐบุญสร้าง กรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 แผนสุขภาวะชุมชน สสส. เปิดเผยว่าถ้าชาวนาสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ คุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้น สุขภาวะในเรื่องของสิ่งแวดล้อม มลภาวะต่างๆ ก็จะดีขึ้น ยิ่งถ้ามีการเรียนรู้ร่วมกันอย่างโครงการโรงเรียนชาวนานั้นก็จะก่อให้เกิดความเข้มแข็งในมิติทางสังคมขึ้นมากอีก โดยสรุปแล้วโครงการนี้เกิดผลดีต่อทั้งสุขภาวะทางกาย ทางจิตใจ ทางสังคม จิตวิญญาณ และสิ่งแวดล้อม
“ปัญหาสำคัญในการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบปลอดสารพิษก็คือ กระบวนการเรียนรู้ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนวิธีการคิดของเกษตรกร สิ่งนี้คือพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ไปจนถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นจะต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง เพราะการสร้างสุขภาวะในพื้นที่ของชุมชน ปัญหาหลักๆ ที่เป็นพื้นฐานที่สุดตอนนี้ก็คือวิธีหรือกระบวนการคิดของชาวบ้านหรือชุมชน ซึ่งถ้าสามารถปรับเปลี่ยนตรงนี้ได้ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาอื่นๆ ได้” นายสุนัยระบุ
สอดคล้องกับความเห็นของ นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ที่ระบุว่าการทำการเกษตรแบบยั่งยืนนั้นมีผลวิจัยออกมาแล้วว่าส่งผลดีต่อทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรเพราะยังมีมุมมองต่อความสุขที่ผิดๆ เนื่องจากการทำเกษตรแบบยั่งยืนหรือเกษตรปลอดสารเคมีต้องอาศัยเป้าหมาย หรือแรงบันดาลใจอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แรงจูงใจ ไม่ใช่เรื่องของเงินทอง แต่เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ เรื่องของความสุขของชีวิตในองค์รวม ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์คนละแบบกับการทำการเกษตรปัจจุบันที่มองแบบแยกส่วนโดยมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่าถ้าทำงานได้เงินมากๆ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นทั้งหมด
“การที่จะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของชาวนาจะต้องทำสองอย่างคือ หนึ่งสร้างกระบวนการเรียนรู้ และสองสร้างกระบวนการกลุ่ม ดังนั้นการจัดตั้งโรงเรียนชาวนาขึ้นมาจึงเป็นคำตอบที่จะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของชาวนา เพราะเราจะทำให้เขาได้รู้ว่าชีวิตก็คือองค์รวม การทำงานกับวิถีชีวิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ใช่ว่ามีเงินแล้จะมีความสุข เพราะหากมีเงินแต่สิ่งแวดล้อมเสียไปก็ทำให้สุขภาพของเราเสียตามไป เมื่ออาหารไม่ดีไม่ปลอดภัยร่างกายของเราก็จะได้รับสิ่งที่ไม่ได้ไปด้วย” นายเดชากล่าว
ล่าสุดทางมูลนิธิข้าวขวัญ และโรงเรียนชาวนา ได้จัดงาน “สืบสานตำนานแม่โพสพกับชาวนา” ขึ้นมาเพื่อสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามที่กำลังสูญหายไปให้กลับคืนมาอีกครั้ง ซึ่ง คุณอนัญญา หงษา ผู้จัดการมูลนิธิข้าวขวัญ เปิดเผยถึงการจัดงานในวันนี้ว่าเป็นการนำเอาความเชื่อเรื่องของพระแม่โพสพมาเชื่อโยงกับการทำนาในปัจจุบันเพื่อให้เกษตรกรได้เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และการอยู่ร่วมกับระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับรู้จากการปฏิบัติจริงใน 3 ด้านคือ ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเห็นผลชัดเจนว่าสามารถลดต้นทุนได้จริง ด้านสังคม ชาวนาจะได้เพื่อนและได้สังคมที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันกลับคืนมา