“TMC หนุน 3 นวัตกรรมไทยคว้าเหรียญทอง ITEX’ 09”

ศุกร์ ๒๙ พฤษภาคม ๒๐๐๙ ๑๓:๕๑
ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลก ส่งผลให้การแข่งขันยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้น ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ การทำ “นวัตกรรม” เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า การเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มีความแตกต่างเหนือคู่แข่งและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และการบริหารจัดการที่ดีจะช่วยเพิ่มโอกาสและช่องทางให้กับธุรกิจได้อีกทางหนึ่ง

ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) กล่าวว่า หน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (ซายน์พาร์ค : TSP) เป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนด้านต่างๆ ให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมของผู้ประกอบการ SMEsในช่วงเริ่มต้นการดำเนินธุรกิจ และสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการที่เข้ารับการบ่มเพาะฯในการขยายฐานทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีในต่างประเทศ ตลอดจนการนำนวัตกรรมจากฝีมือคนไทยสู่เวทีการประกวดนวัตกรรมระดับโลก

“การบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีนั้นนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากช่วยให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ยังไม่พร้อมจะประกอบกิจการด้วยตนเองได้มีผู้ดูแลที่เปรียบเสมือนเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำในการประกอบธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็ง และพร้อมที่จะดำเนินธุรกิจได้เองในโลกธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง”

ดร.สุพัทธ์ พู่ผกา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สายงานโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวด้วยว่า จากผลงานของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีที่ผ่านมา ล่าสุดมีเอกชน 3 รายซึ่งเป็นสมาชิกในหน่วยบ่มเพาะธุรกิจฯ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยได้เข้าร่วมงาน International Invention, Innovation and Technology Exhibition หรือ ITEX’ 09 ซึ่งเป็นการแสดงนวัตกรรม เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ระดับนานาชาติที่มีผู้เข้าเยี่ยมชมงานเป็นทั้งนักธุรกิจ นักประดิษฐ์และนักเทคโนโลยีจากนานาชาติ จัดขึ้นโดย MINDS : Malaysian Invention and Design Society ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ผลความสำเร็จภายในงานนี้ คือ เอกชนไทยทั้ง 3 รายสามารถคว้าเหรียญทองในงานดังกล่าวจากสาขาต่างๆได้แก่ สาขาการสื่อสาร, สาขาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน และสาขาไบโอเทคโนโลยี ซึ่งนับเป็นการเปิดตลาดนวัตกรรมไทยให้เป็นที่รู้จัก และเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ฐานความรู้มาบูรณาการ นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์

ด้าน นายเฉลิมลาภ ศักดาปรีชา กรรมการผู้จัดการบริษัท มายด์ อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับรางวัลเหรียญทองในงาน ITEX’ 09 สาขาการสื่อสาร กล่าวว่า จากปัญหาการใช้บริการอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้ที่ต้องใช้วิธีเหมาจ่ายเป็นรายเดือนหรือรายชั่วโมงแต่ไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายตามนาทีที่ใช้งานจริง จึงเกิดแนวคิดประดิษฐ์ Intelligence Wifi-Box หรือ ตู้จำหน่ายอินเทอร์เน็ตอัจฉริยะ ขึ้นมา ซึ่งตู้ดังกล่าวมีคุณสมบัติ คือ เมื่อต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตสามารถหยอดเหรียญไปตามความต้องการใช้งานและตู้จะออก Ticket ที่มี Username และ Password ออกมาให้สามารถนำไปใช้ในงานอินเทอร์เน็ตได้ตามจริง ค่าบริการเฉลี่ยนาทีละ 20 สตางค์ และหากใช้ไม่หมดตามระยะเวลาดังกล่าวยังสามารถเก็บไว้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในครั้งต่อไปได้โดยมีอายุการใช้งาน 3 เดือน ทำให้ลูกค้าสามารถจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตตามการใช้งานจริง ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวก

ด้านความสามารถในการให้บริการตู้จำหน่ายอินเทอร์เน็ตอัจฉริยะให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ในรัศมีระยะ 150 เมตรรอบบริเวณที่ติดตั้งตู้ดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับสถาบันนวัตกรรม บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อขยายการผลิตตู้จำหน่ายอินเทอร์เน็ตอัจฉริยะเพิ่มมากขึ้น โดยที่ผ่านมามีการนำ Intelligence Wifi-Box ติดตั้งตามสถานที่ต่างๆ เพื่อสร้างความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งานทั้งบริเวณร้านสะดวกซื้อ หรือตามหอพักต่างๆ เช่น ให้บริการแก่ลูกค้าในหอพักมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับผลการตอบรับที่ดี เนื่องจากลูกค้ามีความพอใจในค่าบริการที่จ่ายตามจริง

“การเข้าเป็นหนึ่งในหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีของซายน์พาร์ค ยังเป็นตัวช่วยที่ดีในด้านการตลาด เนื่องจากบริษัทเน้นทำงานวิจัยและพัฒนา อาจมองกลไกตลาดไม่กว้างขวางนัก แต่เมื่อได้รับคำแนะนำจากซายน์พาร์ค ทำให้ได้รับทั้งความรู้และขยายการตลาดให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น”

นายไพจิตร แสงไชย กรรมการผู้จัดการ บริษัทเคม ครีเอชั่น จำกัด อีกหนึ่งในเจ้าของเหรียญทองงาน ITEX’ 09 สาขาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน กล่าวว่า Laminated Paper Recovery Enzyme หรือ เอนไซม์สำหรับการนำกระดาษลามิเนท มาใช้ใหม่ ที่บริษัทฯคิดค้นนี้เป็นการนำเอนไซม์มาใช้ในการช่วยย่อยกระดาษลามิเนทซึ่งเป็นกระดาษพิเศษที่มีอยู่ในกล่องเครื่องดื่ม ถุงอุตสาหกรรม ซองบุหรี่หรือสติ๊กเกอร์ที่ใช้แล้ว โดยกระดาษเหล่านี้มักเหลือทิ้งและย่อยสลายได้ยากอีกทั้งยังไม่ค่อยมีใครนำกลับมาใช้ใหม่ เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีรองรับ

ดังนั้นเมื่อบริษัทฯนำเอนไซม์สูตรใหม่นี้มาใช้ย่อยสลายกระดาษลามิเมทจะทำให้สามารถแยกกระดาษลามิเนทออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ กระดาษ และพลาสติก/อลูมินั่ม ซึ่งชิ้นส่วนที่แยกได้เหล่านี้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น กระดาษสามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ พลาสติกสามารถหลอมใหม่ทำเป็นพลาสติกเกรดต่างๆได้ หรือแม้กระทั่งอลูมินั่มซึ่งเป็นวัสดุราคาแพง(ตันละประมาณ 2-3 แสนบาท)ก็สามารถนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในชิ้นส่วนรถยนต์หรือแม้กระทั่งปีกเครื่องบิน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อใช้เอนไซม์ดังกล่าวแยกส่วนต่างๆเหล่านี้แทบจะไม่มีของเหลือทิ้งที่สร้างมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย

“ด้านแผนการตลาด ขณะนี้บริษัทฯวางไว้ 3 ส่วนได้แก่ การจำหน่ายเอนไซม์ การจำหน่ายระบบ Recovery และการร่วมลงทุนในธุรกิจรีไซเคิลทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการเข้าร่วมงาน ITEX’ 09 โดยการสนับสนุนของซายน์พาร์คครั้งนี้ได้มีนักลงทุนมาเลเซียภายในงาน ติดต่อร่วมลงทุนเข้ามาแล้ว 3 ราย ซึ่งเอนไซม์สำหรับการนำกระดาษลามิเนท มาใช้ใหม่นี้ ยังเป็นนวัตกรรมล่าสุดที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่มี ทำให้คาดว่าจะสามารถเปิดตลาดนวัตกรรมในธุรกิจรีไซเคิลได้อย่างต่อเนื่อง”

ด้านนายนพดล พันธุ์พานิช กรรมการบริษัท อินโนว์ (ประเทศไทย) จำกัด อีกหนึ่งในบริษัทที่ได้รับรางวัลเหรียญทองงาน ITEX’ 09 สาขาไบโอเทคโนโลยี กล่าวว่า innov gel test หรือ เจลทดสอบกรุ๊ปเลือด ชุดประหยัด เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแรงบันดาลใจในการเห็นงานวิจัยของ รศ.ดร.อมรรัตน์ ร่มพฤกษ์ นักวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) จึงมีความสนใจที่จะนำมาพัฒนาทางการตลาด

โดยทั่วไปวิธีการตรวจเลือดแบบมาตรฐานเดิมเพื่อให้ทราบข้อมูลการเข้ากันได้ของเลือดระหว่างผู้ให้และผู้รับจะทำในหลอดทดลองต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงานสูงทั้งยังตรวจได้น้อย และต้องเตรียมอุปกรณ์มาก แต่ innov gel test นี้มีความถูกต้องแม่นยำ และรวดเร็ว ต้นทุนก็ถูกกว่าชุดทดสอบที่นำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งยังสามารถลดข้อผิดพลาดจากเทคนิคเดิม ประหยัดบุคลากร ลดเวลาและขั้นตอนการทำงาน เนื่องจากทดสอบได้ทีละ 96 การทดสอบและผลทดสอบที่ได้มีความถูกต้อง ปลอดภัย ส่งผลให้สามารถตรวจสอบความเข้ากันได้ของเลือดระหว่างผู้ใช้และผู้รับได้อย่างแม่นยำ ขณะนี้ยังมีการนำ innov gel test มาใช้จริงในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น และจะออกสู่ตลาดในเดือนมิถุนายนศกนี้ พร้อมคาดว่าหากมีการขยายตลาดจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งธนาคารเลือดและโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ

“การเข้าร่วมเป็นหนึ่งในหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีของซายน์พาร์ค มีประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้มีการพัฒนาองค์ความรู้ในศาสตร์แขนงนี้ต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์อื่นๆ ทั้งยังมีนักวิจัยของศูนย์วิจัยแห่งชาติเข้ามาแนะนำในการทำงานต่างๆรวมถึงสามารถรับรู้ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ทำให้บริษัทฯเกิดการพัฒนางานอย่างไม่หยุดยั้งต่อไป”

งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) โทร. 02-564-7000 ต่อ 1476 — 8 www.tmc.nstda.or.th

สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อ : โทร. 02-270-1350-4 ต่อ 104 ,114 ,115 อีเมล์ : [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ