นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ(กนร.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบหลักการตามที่คณะกรรมการ กนร. เสนอมา ทั้ง 6 เรื่อง ดังต่อไปนี้ 1. เรื่องกรอบทิศทางแนวนโยบายผู้ถือหุ้นภาครัฐที่มีต่อรัฐวิสาหกิจ (SOD) เพื่อใช้เป็นกรอบการกำหนดทิศทางของรัฐวิสาหกิจในระยะปานกลาง โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทั้ง 9 สาขา จำนวน 55 แห่ง 2. เรื่องสถานะของการสรรหาผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หรือ CEO จากที่รายงานว่า รัฐวิสาหกิจที่ขาดผู้บริหารสูงสุดอยู่ถึง 19 แห่ง ในขณะนี้มีรัฐวิสาหกิจอีก 5 แห่ง ได้ผู้บริหารสูงสุดเพิ่มเติม คงมีรัฐวิสาหกิจ 11 แห่ง ที่ยังขาดผู้บริหารสูงสุด ทั้งนี้ได้กำกับกำชับให้รัฐมนตรีที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่ยังขาดผู้บริหารสูงสุดอยู่ช่วยเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจในสังกัดดำเนินการสรรหาให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด
และ 3. เรื่องการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์และแนวทางการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจ (CG) ปี 2544 โดยเทียบเคียงกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจของ OECD ปี 2548 (OECD Guidelines on Corporate Governance of State-Owned Enterprises 2005) และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2549 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้มีการกำกับดูแลที่ชัดเจน 4. เรื่องการรายงานสถานะของรัฐวิสาหกิจ โดย กนร.มีมติให้กระทรวงเจ้าสังกัด และคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา รวมถึงในเรื่องของการนำส่งรายได้ และเบิกจ่ายงบลงทุนให้ได้ตามเป้าที่รัฐบาลกำหนดไว้ รวมทั้งในเรื่องของการพิจารณาโครงการลงทุนเพิ่มเติมระหว่างปีเพื่อเป็นการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจของประเทศ 5. การจัดตั้ง/ร่วมทุนในบริษัทในเครือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) โดยเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในธุรกิจสาขาพลังงาน ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนและมีทิศทางที่เหมาะสมในการดำเนินงาน
6. เรื่องการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงินการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มการขนส่งทางราง ซึ่งมีต้นทุนการขนส่งที่ต่ำกว่าการขนส่งทางอื่น จึงได้เห็นชอบให้ร.ฟ.ท.ปรับโครงสร้างโดย 1. ให้ ร.ฟ.ท. จัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมา 2 บริษัท คือบริษัทเดินรถและบริษัทบริหารทรัพย์สินแยกจาก รฟท. โดยให้ รฟท.ถือหุ้น 100% และดำเนินการจัดตั้งบริษัททั้ง 2 ภายใน 30 วัน นับแต่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ และให้เริ่มดำเนินการได้ภายใน 180 วัน โดยให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นเพียงผู้จัดหาเอกชนเข้าพัฒนาที่ดินและบริหารสัญญาเท่านั้น 2 .ให้ภาครัฐรับภาระการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และพิจารณาในการแก้ไขภาระหนี้สิน โดยใช้รายได้ของ ร.ฟ.ท. และบริษัทลูกที่จะหาได้ในอนาคตจ่ายคืนและดอกเบี้ยที่กระทรวงการคลังช่วยเหลือ รวมถึงการเพิ่มบทบาทให้กับเอกชนในกิจการของ ร.ฟ.ท.
ซึ่งผลที่จะได้จากการลงทุนในครั้งนี้จะทำให้ภายใน 6 ปี จำนวนขบวนรถที่วิ่งบนรางเพิ่มขึ้น 100% ปริมาณในการขนส่งโดยสารเพิ่ม 25% และการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น 100% พร้อมทั้งจะมีรายได้จากการบริหารสินทรัพย์เพิ่มขึ้นประมาณ 11,000 ล้านบาท ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า
ส่วนในเรื่องของแผนธุรกิจเพื่อพลิกฟื้นฐานะทางการเงินของ บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ(ไอซีที) ไปดำเนินการพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาข้อพิพาทกฎหมายระหว่าง บมจ.ทีโอทีกับเอกชน พิจารณาในการให้สัญญาร่วมการงานระหว่าง บมจ.ทีโอที และบมจ.กสท กับเอกชน เป็นไปตามกระบวนการของ พรบ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 พิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุนโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 ของ บมจ.ทีโอที และโครงการ CDMA ของ บมจ. กสท ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการวางกรอบการลงทุนในอนาคตของทั้งสองบริษัทให้ชัดเจนไม่ซับซ้อนกัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ส่วนส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์ 02-298-5880-9 ต่อ 6722 , 6723
โทรสาร 02-298-5809 http :/ www.sepo.go.th